ข่าว

ข้อเท็จจริงของประเพณี 'สงกรานต์พระประแดง' ไม่ใช่ 'วันไหล'

ข้อเท็จจริงของประเพณี 'สงกรานต์พระประแดง' ไม่ใช่ 'วันไหล'

15 เม.ย. 2566

เรียนรู้ข้อมูลข้อเท็จจริง ประเพณีสำคัญของชาวมอญ 'สงกรานต์พระประแดง' ไม่ใช่เทศกาล 'วันไหล'ของภาคตะวันออก วัฒนธรรมทรงคุณค่าของชาวไทยรามัญ

เทศกาลสงกรานต์ 2566 เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาความสุขของคนไทย หลังจากที่ไม่สามารถเล่นน้ำกันมาหลายปี ทำให้ทุกๆพื้นที่ต่างฉลองเทสกาลกันอย่างเต็มที่ และเริ่มมีการกล่าวถึงการเล่นสงกรานต์ต่อเนื่องในอีกหลายพื้นที่ เช่น พัทยา บางแสน และพระประแดง และเรียกรวมว่าเป็น วันไหลสงกรานต์ 

ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ภาพจากเพจ งานประเพณีแห่หงส์-ธงตะขาบมอญปากลัด พระประแดง
งานวิจัยชื่อ การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมท้องถิ่น: ศึกษากรณีงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ  ของสรรเกียรติ กุลเจริญ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า ประเพณีสงกรานต์พระประแดงดั้งเดิม มีความเป็นมาจากความเชื่อของชาวมอญ จะเกี่ยวพันให้ชาวมอญได้ยึดมั่นและบำรุงพระพุทธศาสนา กตัญญูต่อบรรพชนและบุพพการีที่ล่วงลับและแสดงความเคารพต่อบุพพการีที่ตนเคารพนับที่ยังมีชีวิตอยู่ สร้างความสามัคคี ประกอบด้วย การทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม การส่งข้าวสงกรานต์ การกวนกาละแม การเล่นสะบ้า การค้ำต้นโพธิ์ การปล่อยปลา ปล่อยนก การแห่หงส์ธงตะขาบ การสรงน้ำพระพุทธรูป-รดน้ำ ขอพรผู้ใหญ่และ การทะแยมอญ ประเพณีที่เริ่มสูญหายไป เช่น การส่งข้าวสงกรานต์ การค้ำต้นโพธิ์และการแสดงทะแยมอญ ที่ยังคงอยู่เป็นเพียงการแสดงสาธิตให้กับนักท่องเที่ยวได้รับชม เท่านั้น ประเพณีขึ้นมาใหม่ได้แก่ การแห่หงส์ธงตะขาบ แห่นางสงกรานต์ประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย ขบวนแห่รถบุปผาชาติ

ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ภาพจากเพจ งานประเพณีแห่หงส์-ธงตะขาบมอญปากลัด พระประแดง

'สงกรานต์พระประแดง' ไม่ใช่ 'วันไหล'
ความเข้าใจผิดที่ผ่านมาของความเข้าใจนั้น มักจะเรียกรวม ประเพณีสงกรานต์พระประแดง กับงานเทศกาลของภาคตะวันออกว่าวันไหลไปด้วย ในความเป็นจริงแล้ว เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก 
จากการสืบค้นข้อมูลพบบทความ ย้อนรอยกว่าจะเป็น ‘ประเพณีวันไหล’ เทศกาลที่สืบทอดจาก ‘ความหลงใหล’ ของชาวชลบุรี จากเว็บไซต์ของ มหาวิทยาลัยบูรพา และข้อมูลที่ระบุในวิกิพีเดีย ได้ระบุข้อมูลว่า  'วันไหล'หมายถึง วันทำบุญขึ้นปีใหม่ของชาวทะเล ไม่ว่าจะเป็น 'วันไหลพัทยา' และ 'วันไหลบางแสน' ซึ่งใช้ตามประเพณีดั้งเดิม ที่เรียกว่า ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล ซึ่งเป็นงานบุญขนทรายเข้าวัด หากวัดใดอยู่ใกล้ทะเล แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ชาวบ้านก็จะช่วยกันขนทรายที่อยู่ตามแหล่งน้ำใกล้ ๆ เข้าวัด นำมาก่อพระเจดีย์ หรืออื่น ๆ ทรายเหล่านี้จะนำมาใช้ประโยชน์ในวัดต่อไป  

ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ภาพจากเพจ งานประเพณีแห่หงส์-ธงตะขาบมอญปากลัด พระประแดง

ส่วน สงกรานต์พระประแดง เป็นประเพณีและเทศกาล ที่เป็นเรื่องราวของชาติพันธุ์หรือคนไทยเชื่อสายมอญ ซึ่งเข้ามาตั้งรกรากอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยุคสมัยกรุงธนบุรี และได้รับโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ให้โยกย้ายจากสามโคก เมืองปทุมธานี  มาอาศัยยังเมืองใหม่ นาม นครเขื่อนขันธ์ ปราการป้องกันปากแม่น้ำเจ้าพระยา วัฒนธรรมมอญจึงหลังไหลเข้าสู่พื้นที่และดำรงอยู่จนปัจจุบัน  
 

  สงกรานต์พระประแดง มีช่วงเทศกาลยาวนานกว่าสงกรานต์ในพื้นที่อื่น รวม 7 - 10 วัน คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. จนถึงวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายน ถือเป็นวันสุดท้ายของสงกรานต์พระประแดง ในทุกๆปีจะมีขบวนแห่สงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ตระการตา 2-3 วัน ก่อนถึงวันสงกรานต์ ชาวรามัญ และชาวไทยพระประแดง จะเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือนของตน แต่ละบ้านก็ช่วยกันกวนขนมที่เรียกว่า กาละแม หรือชาวเรียก กวันฮะกอ บางบ้านก็กวน ข้าวเหนียวแดง เพื่อใช้สำหรับทำบุญตักบาตรวันสงกรานต์ และแจกจ่ายญาติ เพื่อนบ้าน  นอกจากนี้ยังมีการละเล่นต่าง ๆ มากมาย เช่น สะบ้า ร้องเพลงทะแยมอญกล่อมบ่อน 

บ่อนสะบ้า ในประเพณีสงกรานต์พระประแดง ภาพจากเพจ งานประเพณีแห่หงส์-ธงตะขาบมอญปากลัด พระประแดง
และยังมีประเพณีส่งข้าวสงกรานต์   เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากตำนานสงกรานต์  ครั้งเมื่อตอนที่ท่านเศรษฐี ซึ่งเป็นพ่อของธรรมบาลกุมาร พูดที่ตอบคำถามกบิลพรหมจนชนะได้ ในตอนที่นำเครื่องสังเวยไปบวงสรวงเทวดาใต้ต้นไทรเพื่อขอบุตร อยู่ในช่วง 3 วัน คือวันที่ 13-15 เม.ย. ตามประเพณีจะปลูกศาลเพียงตาด้วยไม้ไผ่และใบตอง ไว้ที่บ้านของตน เจ้าบ้านจะนำอาหารคาวหวาน ใส่กระทงตั้งไว้บนศาลพร้อมด้วย ข้าวแช่ หรือ ข้าวสงกรานต์ เพื่อสักการะพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงหากบ้านใดจะทำบุญใหญ่ จะเชิญสาว ๆ ในหมู่บ้านมาช่วยกันทำอาหาร อาหารที่ทำคือ ข้าวสงกรานต์ หรือ ข้าวแช่ คือ ข้าวสวย เมื่อจะทานจะนำไปแช่น้ำดอกมะลิที่ใส่ในหม้อดิน กินแกล้มกับข้าวรสเค็ม เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ส่วนของหวานสำหรับทำบุญได้แก่ ถั่วดำต้มน้ำตาล กล้วยหักมุก แตงโม และจะนำข้าวสงกรานต์และของหวานใส่ถาดเป็นสำรับ ให้เท่ากับจำนวนวัดที่จะทำบุญในเวลาเช้า 

ธงตะขาบ ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ภาพจากเพจ งานประเพณีแห่หงส์-ธงตะขาบมอญปากลัด พระประแดง
นอกจากนี้ยังมีประเพณีที่สำคัญในเทศกาล นั่นคือ ประเพณีแห่หงส์ – ธงตะขาบ  ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในทุก ๆ วันที่ 13 เม.ย. โดยชาวไทยรามัญจะจัดขบวนแห่อย่างสวยงาม ประกอบด้วยเสลียงอัญเชิญหงส์ และขบวนธงตะขาบแห่ไปรอบ ๆ วัดในเมืองพระประแดง เช่น วัดโปรเกศเชษฐาราม วัดทรงธรรม วัดคันลัด เป็นต้น หงส์ คือ สัญลักษณ์ของเมืองหงสาวดี ถือเป็นถิ่นเดิมของชาวมอญ ตามตำนานเล่าว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ได้ 8 ปี ได้เสด็จไปยังแคว้นต่าง ๆ วันหนึ่งทรงมาถึงภูเขาสุทัศนมรังสิต ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองสะเทิม ทรงเห็นเนินดินกลางทะเลมีหงส์คู่หนึ่งเล่นน้ำกันอยู่ พระองค์จึงทำนายว่าวันข้างหน้า เนินดินที่หงส์ทองเล่นน้ำจะกลายเป็นมหานครชื่อว่า หงสาวดี คำสั่งสอนของพระพุทธองค์จะรุ่งเรืองขึ้นที่นี่ หลังจากเสด็จดับขันธ์ล่วงไปแล้วได้ 100 ปี ทะเลใหญ่นั้นก็เกิดตื้นเขินจนกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ เมืองหงสาวดีจึงได้กำเนิดขึ้น ณ ดินแดนที่มีหงส์ทองเล่นน้ำอยู่นั้น ดังนั้นชาวมอญในหงสาวดีจึงใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ของประเทศตั้งแต่นั้นมา


สำหรับธงตะขาบ นั้น มีลักษณะคล้ายกับ ตุง ของทางภาคเหนือ แต่มีขนาดใหญ่ประมาณ 3 เมตร โดยชาวมอญ เชื่อว่า ตะขาบ มีเขี้ยวพิษสามารถต่อสู้กับศัตรูที่จะมารุกรานได้ เปรียบเหมือนชาวมอญที่ไม่เคยหวาดหวั่นศัตรู ทุกอวัยะในตัวตะขาบนั้น ชาวมอญจะตีความออกมาเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น หนวด 2 เส้น หมายถึง สติ สัมปชัญญะ หาง 2 หาง หมายถึง  ขันติ  โสรัจจะ เขี้ยว 2 เขี้ยว หมายถึง หิริ โอตัปปะ ตา 2 ข้าง หมายถึง บุพการี กตัญญูกตเวที ลำตัว 22 ปล้อง หมายถึง สติปัฎฐาน4 สัมมัปปธาน4 อินทรีย์ 5 พละ5 และอิทธิบาท4 นั่นหมายถึง หากประเทศรามัญสามารถปกครองดูแลประชาราษฎร์ของตนได้เหมือนตะขาบ รามัญประเทศ