รอชม 'สุริยุปราคา' เหนือฟ้าเมืองไทย เช้า 20 เม.ย.66
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชม 'สุริยุปราคา' บางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย ช่วงเช้าวันพฤหัสที่ 20 เม.ย.66 เวลาประมาณ 10.22 - 11.43 น.
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า วันที่ 20 เมษายนนี้ เวลาประมาณ 10.22 - 11.43 น. จะมีปรากฏการณ์ สุริยุปราคา บางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย คราสบังมากสุดทางภาคใต้ที่ จ.นราธิวาส เพียงร้อยละ 4 และสังเกตได้เพียงบางพื้นที่เท่านั้น ได้แก่ 9 จังหวัดในภาคใต้ แต่ละพื้นที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดไม่เท่ากัน ดังนี้ จ.นราธิวาส (ร้อยละ 4.06), ยะลา (ร้อยละ 3.22), ปัตตานี (ร้อยละ 2.82), สตูล (ร้อยละ 1.77), สงขลา (ร้อยละ 1.77), พัทลุง (ร้อยละ 0.93), ตรัง (ร้อยละ 0.61), นครศรีธรรมราช (ร้อยละ 0.32), กระบี่ (ร้อยละ 0.01) และรวมถึงบางส่วนของจังหวัดตราด (ร้อยละ 0.02), อุบลราชธานี (ร้อยละ 0.1) และศรีสะเกษ (ร้อยละ 0.01)
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นนั้น เป็นสุริยุปราคาแบบผสม (สุริยุปราคาวงแหวนและเต็มดวง) เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/80 ชุดซารอสที่ 129 แนวคราสจะเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดียไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนใหญ่พาดผ่านมหาสมุทร และแผ่นดินบางส่วนที่เป็นเกาะใหญ่ๆ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศติมอร์ตะวันออก และประเทศอินโดนีเซีย (เกาะปาปัวและปาปัวตะวันตก) ตั้งแต่เวลา 09.42 - 12.52 น. (ตามเวลาประเทศไทย) การเกิดคราสครั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุดเพียง 1 นาที 16 วินาที
สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ อาจบังทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้ สุริยุปราคาแบบผสม เป็นสุริยุปราคาที่เกิดขึ้น 2 ประเภทในครั้งเดียว ได้แก่ สุริยุปราคาวงแหวน และสุริยุปราคาเต็มดวง เนื่องจากโลกมีผิวโค้ง ทำให้แต่ละตำแหน่งบนโลกมีระยะห่างถึงดวงจันทร์ไม่เท่ากัน ผู้สังเกตที่อยู่ไกลจากดวงจันทร์จะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน ในขณะที่ผู้สังเกตที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่าจะเห็นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง
สำหรับ สุริยุปราคาบางส่วน เกิดจากโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเดียวกันพอดี ขณะเกิดสุริยุปราคา ดวงจันทร์จึงบดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน ทำให้มีเพียงเงามัวของดวงจันทร์ทอดผ่านพื้นผิวโลก ผู้สังเกตบนโลกภายในบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่านจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังเพียงบางส่วนเท่านั้น
สำหรับผู้สนใจชมปรากฏการณ์ในครั้งนี้ ห้ามสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่า
วิธีดูสุริยุปราคาอย่างปลอดภัย สังเกตการณ์แบบทางตรง
- ดูผ่านแว่นตาดูดวงอาทิตย์
- ดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสงดวงอาทิตย์
- ดูผ่านกล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ
วิธีดูสุริยุปราคาอย่างปลอดภัย สังเกตการณ์แบบทางอ้อม
- ดูผ่านกล้องรูเข็ม
- ดูผ่านกระชอนหรืออุปกรณ์ที่มีรู
- ดูจากแสงแดดที่ลอดผ่านใบไม้
- ดูผ่านฉากรับภาพที่ติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์
นอกจากนี้ยังสามารถรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทาง เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ https://www.facebook.com/NARITpage ตั้งแต่เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป