ข่าว

'หลินฮุ่ย' ไม่ใช่แค่ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน อยู่เชียงใหม่ 20 ปี จ่ายเงิน 150 ล.

'หลินฮุ่ย' ไม่ใช่แค่ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน อยู่เชียงใหม่ 20 ปี จ่ายเงิน 150 ล.

20 เม.ย. 2566

'หลินฮุ่ย' แพนด้ายักษ์ ไม่ใช่แค่ทูตสันถวไมตรี อยู่ไทย 20 ปี ต้องจ่ายเงิน 150 ล้าน ลุ้นผ่าพิสูจน์ตายเพราะประมาทต้องจ่ายอีก 15 ล้าน เปิดภาพสุดท้ายเลือดกำเดาไหล  สวนสัตว์ยืนยันไม่เกี่ยว​ PM2.5​ รอผู้เชี่ยวชาญจากจีนมาพิสูจน์ร่วมกับไทย คาดใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

"นาย​วราวุธ​ ศิลปอาชา"​ รมว.ทรัพยากร​ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ (ทส.)​ ยืนยันว่า​หมีแพนด้า "หลินฮุ่ย" ตายจริง และขอบคุ​ณที่สร้างความสุขให้คนไทยมาตลอด​ 20​ ปี​ "หลินฮุ่ย" คือ​ ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน​ การจากไปเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น​ แต่ต้องเข้าใจว่าหลินฮุ่ย​มีอายุมากแล้ว และยืนยันว่าที่ผ่านมาทางองค์การสวนสัตว์ดูแลทั้งการเป็นอยู่และการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างที่จะกะทันหัน ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทุกฝ่ายรวมถึงสัตวแพทย์ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว 

"หลินฮุ่ย" ที่สวนสัตว์เชียงใหม่

 

 

 

"องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย" ได้รายงานว่า "หลินฮุ่ย" ตายจากโรคอะไรนั้น "นายวราวุธ" ชี้แจงว่า ก่อนที่จะทำอะไรกับซากหมีแพนด้าได้​ ต้องรอคำตอบจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ก่อน ขณะนี้ยังไม่ได้พิสูจน์ทราบสาเหตุ ต้องรอผู้เชี่ยวชาญจากจีนเดินทางมาก่อน 

ส่วนจะยกย่องทั้งช่วงช่วงและ "หลินฮุ่ย" อย่างไรนั้น คงต้องรอประสานงานและพูดคุยกับทางจีนก่อน ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะหมีแพนด้าคู่นี้ถือเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ที่ยาวนานของไทยกับจีน

 

 

 

"หลินฮุ่ย" อยู่ภายในห้องจัดแสดงสวนสัตว์เชียงใหม่

 

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า​ ข้อตกลงผ่านมติคณะรัฐมนตรี​ (ครม.)​ ในสมัย "พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา"​ เป็นนายกรัฐมนตรี​ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.​ 2558 ระบุว่า กรณีที่ "หมีแพนด้า" ตายในไทยด้วยเหตุประมาทของไทย ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยตัวละ​ 5​00,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15 ล้านบาท)  หากเป็นลูกอายุเกิน 12 เดือน ไทยต้องจ่ายตัวละ 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านบาท) ไทยได้จ่ายเงินชดเชยจำนวน​ 5​00,000 ดอลลาร์สหรัฐหลังช่วงช่วงตาย ทางสวนสัตว์เชียงใหม่เคยชี้แจงว่าอยู่ในวงเงินประกัน​ ส่วนกรณี "หลินฮุ่ย" ​หากต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับจีน​จะมีวงเงินประกันอยู่​ 15​ ล้านบาท

 

 

 

ด้าน​ "นายจตุพร บุรุษพัฒน์" ปลัด​ ทส.บอกว่า​ ยังไม่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับค่าชดเชยกรณีหมีแพนด้า "หลินฮุ่ย" ตายได้ในขณะนี้ เพราะต้องรอการพิสูจน์สาเหตุการตายอย่างเป็นทางการกับผู้เชี่ยวชาญจากจีนก่อน ซึ่งสวนสัตว์เชียงใหม่คาดว่าจะใช้เวลาราวๆ 2 เดือนในการผ่าพิสูจน์เพื่อหาสาเหตุการตาย

 

 


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า​ "หลินฮุ่ย" ตายก่อนวันครบรอบสัญญาระยะที่ 2 ในเดือน ต.ค.2566 หลังจากครม.​ของไทยทำสัญญากับโครงการอนุรักษ์แพนด้า สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสาธารณรัฐประชาชนจีน (CWCA) เพื่อขอหมีแพนด้า "ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย" มาอยู่ไทยในฐานะทูตสันถวไมตรี ตั้งแต่ปี 2546 

 

 


สัญญาระยะแรกมีอายุ 10 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค.​ 2546 - ต.ค.​ 2556 ข้อตกลงระบุให้ไทยส่งเงินสนับสนุนเข้าโครงการอนุรักษ์แพนด้า CWCA ปีละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.5 ล้านบาท) เป็นระยะเวลา 10 ปี และเมื่อ "หลินปิง" เกิดในปี 2552 ไทยส่งเงินเพิ่มเติมสำหรับลูกหมีแพนด้าอีกปีละ 8​0,000  ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) ต่อเนื่องไปอีก 4 ปี จนกระทั่งหลินปิงกลับไปหาคู่ที่จีน

 

 

 

"หลินฮุ่ย" ฉลองวันเกิดอายุ 21 ปี

 

 


สัญญาระยะที่ 2 ผ่านมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.​ 2558 โดยเห็นชอบให้ไทยต่อสัญญาตั้งแต่เดือน ต.ค.​ 2556 - ต.ค.​ 2566 รวมระยะเวลาทั้งหมด 10 ปีเช่นกัน การต่อสัญญารอบนี้ไทยเพิ่มเงินสนับสนุนโครงการอนุรักษ์แพนด้าของ CWCA เป็น 2 เท่า สำหรับช่วงช่วงและหลินฮุ่ย คือ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 15 ล้านบาท) แต่หลังจาก "ช่วงช่วง" ตายในปี 2562 ไทยลดเงินสนับสนุนลงเหลือปีละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.5 ล้านบาท) ไปจนถึงเดือน ต.ค.​ 2566 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดสัญญาระยะที่ 2 

 

 

 

ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการอนุรักษ์แพนด้าของ CWCA จึงได้เงินสนับสนุนจากไทยไปประมาณ 230.49 ล้านบาท สรุปเฉพาะ "หลินฮุ่ย" จ่ายประมาณ 150 ล้านบาท ตัวเลขนี้ยังไม่รวมค่าชดเชยกรณีพิสูจน์ทราบตายเพราะความประมาทอีกราว 15 ล้านบาท

 

 

 

ขณะที่บัญชีผู้ใช้ "เว่ยป๋อ 牛牛牛奶泡面包" ได้เปิดภาพสุดท้ายของ "หลินฮุ่ย" ที่นักท่องเที่ยวจีนถ่ายได้ขณะมาเยี่ยมชมหมีแพนด้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่พบว่า​ หลินฮุ่ยมีอาการเซื่องซึม สภาพไม่สู้ดี ทั้งยังมีเลือดออกบริเวณจมูกและคอ และเหตุการณ์นี้ยังทำให้ชาวเน็ตจีนเรียกร้องให้อธิบายว่า ทำไมหมีแพนด้าตัวนี้ตาย​

 

 

 

นักท่องเที่ยวชาวจีนภาพถ่ายหลินฮุ่ยและเผยแพร่ทางโลกโซเซียล พบมีเลือดไหลออกตามตัว

 

 

 

ขณะที่ชาวเน็ตหลายคนตั้งคำถามว่า​ "หลินฮุ่ย" ตายเพราะฝุ่น​ละอองขนาดเล็กไม่เกิน​ 2.5​ ไมครอน​ (PM2.5) และอากาศร้อน​​ เพราะอาการคล้ายๆ​ สัตว์แพ้ฝุ่น​ ซึ่งทางสวนสัตว์เชียงใหม่​ได้ยืนยันแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับ​ "PM2.5"​ และอากาศร้อน​ เพราะห้องที่หลินฮุ่ย​อยู่เป็นห้องแอร์​ คาดว่าตายเพราะอายุขัย หมีแพนด้าอายุ 20 ปี เท่ากับมนุษย์อายุ 80 ปี 

 

 

 

"หลินฮุ่ย" ภาพช่วงอายุสุดท้ายก่อนตาย

 

 


 

ด้าน "นายอรรถพร ศรีเหรัญ" ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ฯ กล่าวว่า ในนามองค์การสวนสัตว์ฯ เสียใจต่อการจากไปของ "หลินฮุ่ย" หมีแพนด้ายักษ์ ทูตสันถวไมตรีระหว่างไทยกับจีน ตลอดเวลาที่แพนด้ายักษ์เดินทางถึงประเทศไทย "หลินฮุ่ย" สร้างชื่อเสียงให้กับสวนสัตว์เชียงใหม่ เมืองเชียงใหม่ และประเทศไทย ต่อเนื่อง 20 ปี จนถึงวาระสุดท้ายจากไปด้วยวัย 21 ปี 7เดือน นับเป็นอายุขัยตามปกติของหมีแพนด้ายักษ์ที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 20 ปี 

 

 


ถึงอย่างไร​ การสูญเสียครั้งนี้​ ใช่จะสูญพันธุ์แพนด้ายักษ์อย่างหลินฮุ่ย​ เพราะองค์การสวนสัตว์ฯ ได้วิจัยขยายพันธุ์แพนด้ายักษ์จากการผสมเทียมจนได้ลูกแพนด้า 1 ตัว คือ​ "หลินปิง" และตอนนี้หลินปิงได้กลายเป็นแม่พันธุ์หมีแพนด้าที่ให้กำเนิดลูกแฝด 2 คู่ (4ตัว) ให้กับศุนย์อนุรักษ์ฯ ของจีน

 

 


ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ (มธ.) ระบุว่า​ ปี 2559 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติปรับการจัดกลุ่มหมีแพนด้ายักษ์จาก "ใกล้สูญพันธุ์" มาอยู่ในกลุ่ม "เปราะบาง" หลังจากที่พบว่าจำนวนประชากรเติบโตราว 17% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

 

 


สอดคล้องกับข้อมูล "National Forestry and Grassland Administration" ระบุว่า ในปี​ 2563​ ประชากรหมี "แพนด้ายักษ์" (Giant Panda) ที่อาศัยอยู่ในป่า เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 1,864 ชีวิต จนสามารถกล่าวได้ว่าหมีแพนด้าหลุดจากรายการสัตว์ใกล้สูญพันธุ์แล้ว

 

 


นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่ "คม ชัด ลึก" รวบรวมได้อีกว่า "หมีแพนด้า​" หรือ แพนด้ายักษ์ อาศัยอยู่ในเขตภูเขาสูงตอนกลางของจีน ในมณฑล Sichuan/Shaanxi และ Gansu 

 

 


ปัจจุบัน "หมีแพนด้า" ป่าอพยพลงมาอยู่ในเขตป่าที่ไม่สูงเพราะป่าไม้ถูกโค่นจนไม่มีสภาวะเหมาะสมที่จะอยู่  แต่ดั้งเดิมหมีแพนด้าอาศัยอยู่ในป่าไผ่ของเทือกเขา Qinling และภูเขาในมณฑล Sichuan โดยไม่อยู่เป็นฝูง วันๆ เอาแต่กินใบไผ่และหน่อไม้ประมาณ 9-14 กิโลกรัมต่อวัน เหตุที่กินมากเช่นนี้ ก็เพราะถึงแม้จะเป็นสัตว์ที่กินเนื้อและพืชผักได้ แต่ก็เลือกที่จะกินพืชผักโดยเฉพาะไผ่เกือบทั้งหมด

 

 

 

สวนสัตว์ทั่วโลกที่เลี้ยง "หมีแพนด้า" ล้วนได้รับการยืมจากรัฐบาลจีน เพราะจีนเป็นประเทศเดียวที่มีหมีแพนด้า ต้องทำสัญญาไม่เกิน 10 ปี จ่ายค่าธรรมเนียมอาจถึง 1,000,000 (ประมาณ 30 ล้านบาท) ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และลูกที่เกิดมาเป็นสมบัติของจีน

 

 


สวนสัตว์เหล่านี้​ เช่น​ เชียงใหม่ สิงคโปร์ ไทเป ญี่ปุ่น (Wakayama กับ Kobe) Adelaide ในออสเตรเลีย เบอร์ลิน เวียนนา สเปน สกอตแลนด์ เม็กซิโกซิตี้ San Diego วอชิงตันดีซี แอตแลนตา เมมฟิส เป็นต้น

 

 


"หมีแพนด้า" เป็นสัตว์น่ารักที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศจีนสมัยใหม่ เป็นตัวแทนประเทศจีนที่ชาวโลกรู้จักและรักใคร่ ถึงขนาดตีคู่ขึ้นมาเทียบมังกรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ดั้งเดิมมายาวนาน

 

 


ชาวโลกเพิ่งรู้จัก "หมีแพนด้า" กันอย่างกว้างขวางครั้งแรกเมื่อมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1970 รัฐบาลจีนได้มอบหมีแพนด้าสองตัวให้แก่ US National Zoo ในกรุงวอชิงตัน และหมีแพนด้าก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือสัมพันธ์ทางการทูตในอีกหลายกรณีในเวลาต่อมาจนถูกเรียกว่าเป็น "Panda Diplomacy"

 

 


อย่างไรก็ดี ข้อมูลประวัติศาสตร์ระบุว่า คนตะวันตกรู้จักหมีแพนด้ากันตั้งแต่ ค.ศ.1869 เมื่อหมอสอนศาสนาชาวฝรั่งเศส Armand David ได้รับหนังหมีแพนด้าจากคนล่าสัตว์ (หมีแพนด้ามีลักษณะพิเศษของการมี 2 สี คือ ขาวและดำ แขนขา ลำตัวด้านบน หู และตามีสีดำ ที่เหลือเป็นสีขาวทั้งหมด) ในค.ศ. 1936 Ruth Harkness นำลูก "หมีแพนด้า" มาเลี้ยงที่ Brookfield Zoo ในเมืองชิคาโก และ​ ค.ศ.1938 หมีแพนด้า 5 ตัว ถูกนำมาเลี้ยงในลอนดอน

 

 


สงครามกลางเมืองในจีนและสงครามโลกทำให้หมีแพนด้าโชคดี ไม่มีใครไปยุ่งกับมันในป่า มันถูกลืมไปนานจนมาถูกรื้อฟื้นอีกครั้งในทศวรรษ 1970

 

 

 

ในประวัติศาสตร์จีน "หมีแพนด้า" เป็นสัตว์พิเศษและหายาก แต่ที่แปลกก็คือ ไม่มีหลักฐานศิลปะที่เกี่ยวกับหมีแพนด้าก่อนศตวรรษที่ 20 ให้เห็นเลย และถึงแม้ว่าศูนย์ที่ Wolong ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1958 แต่ก็ไม่มีอะไรก้าวหน้า จนกระทั่งจีนเปิดประเทศในทศวรรษ 1970

 

 

 

ไม่ว่าในอดีตจะเป็นอย่างไร ปัจจุบัน "หมีแพนด้า" รับใช้รัฐบาลจีนอย่างมีประสิทธิภาพและซื่อสัตย์ ความหลักแหลมในการใช้สัตว์น่ารัก หายาก และมีเฉพาะในจีนเป็นตัวแทนของประเทศจีนในยุคของการรักสัตว์และสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อจีนอย่างไม่อาจหาสิ่งอื่นหรือสัตว์อื่นมาสู้ได้

 

 

 

"หลินฮุ่ย"

 

 

 

สวนสัตว์ต่างทราบกันดีว่า การเลี้ยงดูแลหมีแพนด้า 1 ตัวต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย ค่าธรรมเนียมขอยืม "หมีแพนด้า" สูงก็ตาม สวนสัตว์ใหญ่ๆ ในโลกต่างพร้อมขอยืม เพราะหมีแพนด้าคือ "แม่แรงดึงดูด" เม็ดเงินที่สมน้ำสมเนื้อกับราคาจ่าย เช่นเดียวกับสวนสัตว์เชียงใหม่ ทว่า "หลินฮุ่ย" ​เป็นหมีแพนด้ายักษ์ตัวสุดท้ายในประเทศไทย