ข่าว

'วันพืชมงคล 2566' ตรงกับวันไหน เปิดคำทำนาย พระโคเสี่ยงทาย ย้อนหลัง 10 ปี

'วันพืชมงคล 2566' ตรงกับวันไหน เปิดคำทำนาย พระโคเสี่ยงทาย ย้อนหลัง 10 ปี

17 พ.ค. 2566

'วันพืชมงคล 2566' ตรงกับวันไหน เป็น วันหยุด หรือไม่ เปิดคำทำนาย พระโคเสี่ยงทาย ย้อนหลัง 10 ปี พระโค กินอะไรไปบ้าง

“วันพืชมงคล 2566” ตรงกับวันพุธที่ 17 พ.ค. 2566 แรม 13 ค่ำ เดือนหก(6) ปีเถาะ ถือเป็นวันหยุดราชการ แต่ไม่ใช่วันหยุดของบริษัทเอกชน รวมทั้ง ธนาคาร ก็ไม่ถือเป็นวันหยุด ซึ่งวันที่ใช้จัดงานพืชมงคล ในแต่ละปี มีการจัดไม่ตรงกัน โดยทางสำนักพระราชวัง จะเป็นผู้กำหนด 

 

 

สำหรับปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา มีการกำหนดวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2566 โดยได้กำหนดให้วันอังคารที่ 16 พ.ค. 2566 เป็นวันสวดมนต์การพระราชพิธีพืชมงคล และวันพุธที่ 17 พ.ค. 2566 เป็นวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมาลุ้นกันว่า ปีนี้ พระโคเสี่ยงทาย จะเลือกกินอะไร 

 

วันพืชมงคล

ประวัติความเป็นมา “วันพืชมงคล”

 

เป็นพระราชพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี สำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือ พิธีแรกนา ซึ่งในสมัยนั้น พระมหากษัตริย์ เสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธี ส่วนในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน เพราะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญแทนพระองค์ และมิได้ถือว่าเป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง

 

 

ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีแรกนาขวัญ ทรงพระราชดำริ โปรดให้มีพิธีสงฆ์ทางพระพุทธศาสนา ร่วมประกอบในพิธีด้วยเพื่อเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่นำเข้ามาตั้งในมณฑลพิธีแล้วจึงนำไปไถหว่านในการแรกนาขวัญ เรียกพระราชพิธีในตอนนี้ว่า พระราชพิธีพืชมงคล และมีการจัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยทรงเรียกรวมกันว่า "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" เพื่อรักษาบูรพประเพณี อันเป็นมิ่งขวัญของการเกษตรไว้สืบต่อไป สำนักพระราชวังและกระทรวงเกษตรจึงได้กำหนดงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนา ขวัญ ตามราชประเพณีเดิมขึ้นเมื่อปี 2503 จนถึงปัจจุบัน

 

วันพืชมงคล

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญร่วมกับพิธีพืชมงคล เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว โดยเป็นการให้สัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนา และเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว พระราชพิธีทั้งสองนี้ ได้กระทำเต็มรูปแบบมาเรื่อยๆ แม้จะว่างเว้นไป 10 ปี เพราะสถานการณ์บ้านเมืองไม่เอื้อต่อการจัดงาน แต่เพราะประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม โดยเฉพาะการทำนา และชาวนาที่มีมากเกือบค่อนประเทศ จึงสมควรจะได้ฟื้นฟู ประเพณีเก่า อันเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก โดยกำหนดให้มีราชพิธีจรดพระนาคัลแรกนาขวัญ ร่วมกับพิธีพืชมงคล นับแต่นั้นเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน

 

 

เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบันได้ดำเนินตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี เว้นแต่บางอย่างได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับกาลสมัย อาทิ พิธีของพราหมณ์ ก็มีการตัดทอนให้เหลือน้อยลง พระยาแรกนาขวัญก็ให้ตกเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อเสร็จจากการไถแล้ว พระโคก็จะได้รับการป้อนพระกระยาหารและเครื่องดื่ม 7 ชนิด คือ

 

  1. เมล็ดข้าว
  2. ถั่ว
  3. ข้าวโพด
  4. หญ้า
  5. เมล็ดงา
  6. น้ำ
  7. เหล้า

 

                อาหารพระโค 7 ชนิด

 

เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ประชาชนจะพากันแย่งเก็บเมล็ดข้าวที่หว่านโดยพระยาแรกนา เพราะว่าเมล็ดข้าวนี้ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ และความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง ชาวนาก็จะใช้เมล็ดข้าวนี้ผสมกับเมล็ดข้าวของตน เพื่อให้พืชผลในปีที่จะมาถึงนี้อุดมสมบูรณ์ หรือเก็บไว้เป็นถุงเงิน เพื่อความเป็นสิริมงคล

 

คำทำนายจากสิ่งที่พระโคเลือกกิน

 

 

  • พระโคกินถั่วหรืองา : พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
  • พระโคกินข้าวหรือข้าวโพด : พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
  • พระโคกินน้ำหรือหญ้า : พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์
  • พระโคกินเหล้า : พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

 

"พืชมงคล" พระโคเสี่ยงทาย ย้อนหลัง 10 ปี 

 

  • 9 พ.ค. 2555 - พระโคฟ้า พระโคใส เลือกกินหญ้า
  • 13 พ.ค. 2556 - พระโคฟ้า พระโคใส เลือกกินข้าวโพด, หญ้า
  • 9 พ.ค. 2557 - พระโคฟ้า พระโคใส เลือกกินหญ้า, น้ำ
  • 13 พ.ค. 2558 - พระโคฟ้า พระโคเลิศ เลือกกินหญ้า
  • 9 พ.ค. 2559 - พระโคเพิ่ม พระโคพูล เลือกกินข้าว, เหล้า
  • 12 พ.ค. 2560 - พระโคเพิ่ม พระโคพูล เลือกกินข้าว, ข้าวโพด, หญ้า
  • 12 พ.ค. 2561 - พระโคพอ พระโคเพียง เลือกกินน้ำ, หญ้า, เหล้า
  • 9 พ.ค. 2562 - พระโคเพิ่ม พระโคพูล เลือกกินข้าว, น้ำ, หญ้า
  • 11 พ.ค. 2563 - "งดจัดพระราชพิธี" เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำพิธีหว่านข้าวในแปลงนาทดลอง สวนจิตรลดา
  • 10 พ.ค. 2564 - "งดจัดพระราชพิธี" เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำพิธีหว่านข้าวในแปลงนาทดลอง สวนจิตรลดา
  • 13 พ.ค. 2565 - พระโคเพิ่ม พระโคพูล กินถั่ว น้ำ หญ้า และ เหล้า 
  • 17 พ.ค. 2566 - พระโคเลือกกินเหล้า กินหญ้า น้ำท่าบริบูรณ์

 

คันไถ ประกอบในพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันพืชมงคล 2566

 

ส่วนคันไถ ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีฯ วันพืชมงคล 2566 ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2539 โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสร้างถวาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีชุดองค์ประกอบ ดังนี้

 

  1. คันไถ ขนาดความสูง วัดจากพื้นถึงเศียรนาค 2.26 เมตร และยาวจากเศียรนาคถึงปลายไถ 6.59 เมตร ทาสีแดงชาดตลอดคันไถ หัวคันไถทำเป็นเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับคันไถเป็นลายกระจังตาอ้อย ลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายไถหุ้มผ้าขาวขลิบทองสำหรับมือจับ
  2. แอกเทียมพระโค ยาว 1.55 เมตร ตรงกลางแอกประดับด้วยรูปครุฑยุดนาค หล่อด้วยทองเหลือง ลงรักปิดทองอยู่บนฐานบัว ปลายแอกทั้งสองด้านแกะสลักเป็นรูปเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับเป็นลาย กระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายแอกแต่ละด้านมีลูกแอกทั้งสองด้านสำหรับเทียมพระโคพร้อมเชือกกระทาม
  3. ฐานรอง เป็นที่สำหรับรองรับคันไถพร้อมแอก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งทาด้วยสีแดงชาด มีลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองทั้งด้านหัวไถและปลายไถ
  4. ธงสามชาย เป็นธงประดับคันไถ ติดตั้งอยู่บนเศียรนาค ทำด้วยกระดาษและผ้าสักหลาด เขียนลวดลายลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกแวว มีพู่สีขาวประดับเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง เพื่อประดับพระเกียรติ ธงสามชายมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ฐานยาว 41 ซม. สูง 50 ซม. และเสาธงยาว 72 ซม.