ครบรอบ 241 ปี สถาปนา กรุงรัตนโกสินทร์ วัฒนธรรม จัดงานเฉลิมฉลอง
วาระสำคัญวนเกิดกรุงเทพฯ ครอบรอบ 241 ปี สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ราชธานีแห่งประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ไหว้พระรอบพระนคร ชมโบราณสถานสำคัญ
21 เม.ย. เป็นวาระครบรอบการก่อตั้ง สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ในปี2566 ครบ 241 ปี แห่งการเป็นราชธานี เป็นมหานคร ศูนย์รวมทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ย้อนกลับไปในอดีตก่อนการกำเนิดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 พระยาวชิรปราการ หรือในเวลาต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้กอบกู้ฟื้นฟูสถานภาพของอาณาจักรขึ้นใหม่ และสถาปนาเมืองหลวงกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรขึ้น บนฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาปากคลองบางกอกใหญ่
ในการตั้งบ้านแปลงเมืองนั้น หนึ่งในพื้นฐานสำคัญ คือการตั้งใกล้แหล่งน้ำ น้ำเลี้ยงเมือง เลี้ยงคน หลังการเปลี่ยนแผ่นดิน ย้ายราชธานีมาฟากตะวันออก บ้างอ้างในตำราว่า เห็นว่าเป็นหัวแหลม ชัยภูมิดี แต่หากเจาะลึกลงไปนั้น
การตั้งเมืองใหม่ฟากตะวันออก ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นหัวแหลม แต่เป็นเพราะ การจัดค่ายทัพตามตำราสงคราม หนึ่งในเนื้อหาพิชัยสงคราม เอ่ยนามที่จัดค่าย ชื่อ นาคนาม ตั้งค่ายอิงน้ำ อาศัยสายธารเป็นคูพระนคร
อีกหนึ่งนั้น การตั้งชัยภูมินี้ ต้องตามตำราศาสตร์จีน ที่เรียกว่า ฮวงจุ้ย เป็นชัยภูมิ ท้องมังกร เชื่อกันว่า นำมาซึ่งความมั่งคั่ง ร่ำรวย เพราะหากสายน้ำตรงไหลไป พลังธรรมชาติจะแล่นตรงหายไป แต่หากสายน้ำโอบล้อม พลังธรรมชาติในศาสตร์นี้ จะค่อย ๆ ไหล ส่งผลบวกให้กับพื้นที่ จะยิ่งทำให้ความเป็นมงคลเกิดขึ้นต่อเนื่อง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงประกอบ พิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 9 บาท (54 นาที) ปีขาล จ.ศ.1144 จัตวาศก ตรงกับวันที่ 21 เม.ย. ปี 2325 เวลา 6.54 น. และทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกในวันที่ 13 มิ.ย. ปีเดียวกัน
หลักการแนวคิดในการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์นั้น รัชกาลที่ 1 ทรงใช้แนวความคิด การสืบทอดต่อเนื่องความเป็นพระนครศรีอยุธยา เพื่อการสร้างความมั่นคง ขวัญกำลังใจ ตัวอย่างหนึ่งของการที่จะใช้กรุงใหม่เป็นอยุธยา คือการนำอิฐที่เคยเป็นกำแพงเมืองอยุธยา มาสร้างเป็นกำแพงพระนคร
แต่เดิมนั้น พื้นที่กรุงธนบุรี หรือ กรุงรัตนโกสินทร์ นั้น มีชื่อเรียกย่านนี้ว่า บางกอก ที่ชาวต่างชาตินิยมเรียนขานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า บางเกาะ หรือ บางโคก อีกข้อสันนิษฐานคือ พื้นที่นี้มีต้นมะกอกขึ้นมาก จึงเรียกว่า บางมะกอก ต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่า บางกอก
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ปี 2514 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกันเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ปี 2515 จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร แต่นิยมเรียกกันว่า กรุงเทพฯ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
สำหรับวาระครบรอบ 241 ปี ทางกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่างวันที่ 21 - 25 เม.ย. รอบเกาะรัตนโกสินทร์ มีกิจกรรมทั้งด้านศาสนา ศิลปะการแสดง เปิดพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ ตลาดย้อนยุค จำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมไทย 76 จังหวัด ประกวดภาพถ่าย เสวนาวิชาการ ทำบุญไหว้พระ พร้อมจัดรถ ขสมก. รับส่งฟรีตลอดงาน
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า การจัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 30 หน่วยงาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 25 เม.ย. 2566 บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี รวมถึงสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์
และร่วมฉลองเนื่องในวาระครบรอบวันคล้ายวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 241 ปี เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เรียนรู้ และสร้างการรับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของพระบรมราชจักรีวงศ์ ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ และความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย ส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวจากมรดกศิลปวัฒนธรรม ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ เกิดการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ พิธีเปิดงานประดิษฐานภาพพระบรมฉายาลักษณ์และเครื่องราชสักการะ 10 รัชกาล การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ (Night Museum) การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 76 จังหวัด จุดถ่ายภาพย้อนยุคบริการประชาชน การแสดงมัลติมีเดีย ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ นิทรรศการสวนแสงจัดแสดงพระราชประวัติ 10 รัชกาล จัดฉายหนังกลางแปลง การประกวดภาพถ่าย รวมทั้งเปิดให้ประชาชนทำบุญไหว้พระและเข้าชมแหล่งเรียนรู้ โดยจัดรถ ขสมก. และรถรางนำชม บริการรับ-ส่ง ตามจุดเยี่ยมชมต่าง ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย