กองเรือ 'USS NIMITZ' ทอดสมอที่ไทย นัยสำคัญกำลังส่งสัญญาณถึงประเทศมหาอำนาจ
กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี 'USS NIMITZ' จอดทอดสมอที่ไทยไม่ใช่การมาเยือนธรรมดา แต่กองทัพสหรัฐฯ กำลังส่งสัญญาณแสดงแสนยานุภาพเตือนประเทศมหาอำนาจอย่ารุกล้ำน่านน้ำ
จับตาการเดินเรือเข้ามายังน่านน้ำประเทศไทย และมีการทอดสมอเรือบริเวณท่าเแหลมฉบังกองทัพสหรัฐอเมริกา กลายเป็นเรื่องที่หลายคนกำลังจับตามอง สำหรับการมาเยือนของ กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี "USS NIMITZ" (CSG 11) แห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา
โดยการเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังครั้งนี้ข้อมูลจากการกองทัพเรือระบุว่า เป็นการมาเยือนไทยในโอกาสเฉลิมฉลอง 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและสหรัฐฯ แต่มีการวิเคราะห์ซึ่งรายงานอ้างอิงจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมว่า เรือ "USS NIMITZ" จุดที่หันหัวกลับอยู่ใกล้แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของเวียดนาม และส่วนที่เรียกว่าแวนการ์ด แบงค์ (Vanguard Bank) ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับจีน และมีการจับตาว่า การมาเยือนครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นบริเวณดังกล่าวหรือไม่
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึก ถึงกรณีที่ "USS NIMITZ" เท่าเทียบที่บริเวณแหลมฉบังในครั้งนี้ ว่า หากพิจารณาการเข้าเทียบท่าของ "USS NIMITZ" ในครั้งนี้สามารถแบ่งออกได้ใน 3 กรณี คือ การเข้าเทียบท่าโดยปกติของเรือรบทั่วไปที่หลังจากเดินทางมาเป็นเวลานานก็มักจะแวะจอดตามประธานที่เคยทำสนธิสัญญากันไว้ และมีการซักซ้อมรบเป็นเรื่องปกติ เพราะไทยและสหรัฐ ได้มีการทำข้อตกลงในการส่งกำลังบำรุงกันอยู่ ดังนั้นการแวะจอดที่ประเทศไทยจึงเป็นเรื่องปกติที่กองทัพดำเนินการอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่ระบุว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน "USS NIMITZ" เป็นการมาเพื่อฉลองความสัมพันธ์กับประเทศไทยนั้น โดยปกติวาระการฉลองความสัมพันธ์ เป็นวาระที่จะต้องทราบล่วงหน้าประมา 2-3 ปี ก่อน ซึ่งกรณีของการเข้าท่าของ "USS NIMITZ" ไม่เคยทราบมาก่อนเช่นกัน อีกทั้งในการเตรียมต้อนรับกองทัพต่างประเทศที่จะมาเยือนไทยโดยปกติแล้วจะต้องเตรียมตัวต้อนรับเป็นเวลานาน แต่การมาเยือนของ "USS NIMITZ" ยังไม่ได้ยินข่าวมาก่อนที่เรือจะเดินทางถึงประเทศไทย
รศ.ดร. ปณิธาน ระบุต่อว่า ส่วนกรณีสุดท้ายที่มีความเป็นไปได้ในการเดินทางเข้ามาทอดสมอที่ท่าเรือแหลมฉบังในของ "USS NIMITZ" ครั้งนี้ อาจจะเป็นการส่งสัญญาณไปยัง จีน รัชเซีย ว่า สหรัฐและไทยยังมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นต่อกันดีอยู่ และเพื่อบ่งบอกว่า ความแข็งแรงของกองทัพทหารสหรัฐว่ายังมั่นคง และกองทัพเรือของสหรัฐยังคงเป็นกองทัพเรือขนาดใหญ่ ที่มีประสิทธิภาพ และศักยภาพในการพร้อมรบ หรืออีกนัยหนึ่งของการมาเยือนครั้งนี้คือ เพื่อต้องการแสดงแสงยานุภาพให้ประเทศจีนได้เห็นว่าถึงความแข็งแกร่ง
ส่วนประเด็นที่หลายคนสงสัยการมาเยือนไทยครั้งนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์บริเวณแวนการ์ด แบงค์ (Vanguard Bank)ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับจีน หรือไม่นั้น
รศ.ดร.ปณิธาน อธิบายว่า มีความเป็นไปได้ว่าการมาเยือนครั้งนี้อาจจะเป็นการออกลาดตระะเวน เพื่อปกป้องน่านน้ำของประเทศที่อยู่ในแถบอินโด-แปซิฟิก และเพื่อเป็นการตอกย้ำว่า น่านน้ำในบริเวณอินโด-แปซิฟิก อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ เอฟโอไอพี (Free and Open Indo-Pacific strategy: FOIP ) ทุกประเทศมีสิทธิที่จะทำกิจกรรมด้านการค้า เศรษฐกิจ โลจีสติกส์ โดยไม่ได้มีการห้าม หรือไม่ควรมีใครเข้ามายึดครอง เพราะที่ผ่านมา สหรัฐก็เคยทำการลาดตระเวนไปยังบริเวณฟิลิปปินส์มาแล้ว การมาเยือนครั้งนี้จึงถือได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณ และเข้ามาตอกย้ำนโยบายการรักษาน่านน้ำให้ปลอดภัยตามข้อตกลงอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) หรือการจัดระเบียบน่านน้ำในภูมิภาคอาเซียน และเป็นการส่งสัญญาณไปยังประเทศมหาอำนาจด้วย
ส่วนการต้อนรับของกองทัพไทยถือว่าเป็นการยืนยันความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อสหรัฐเช่นกัน และยังถือว่าการมาเยือนของ "USS NIMITZ" ครั้งนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ เพราะกองทัพเรือสหรัฐไม่ได้มาเยือนไทยและเข้ามาทอดสมอในบริเวณน่านน้ำไทย นานนับ 10 ปี แล้วหลังจากที่เกิดการรัฐประหาร ซึ่งหากลองวิเคราะห์ก็ถือว่าไทยตอบรับกับท่าทีการป้องกันการคุกคามน่านน้ำของบางประเทศเช่นหัน
ด้านข้อมูลจากการกองทัพเรือ ระบุว่า สำหรับกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีที่ 11 (Carrier Strike Group 11) มีการประกอบกำลัง จำนวนรวมทั้งสิ้น 5 ลำ ประกอบด้วย เรือบรรทุกเครื่องบิน จำนวน 1 ลำ "USS Nimitz" เรือลาดตระเวนจำนวน 1 ลำ (USS Bunker Hill) เรือพิฆาต จำนวน 2 ลำ (USS Decatur และ USS Wayne E. Meyer) และหมวดบินเฉพาะกิจ โดยมี พลเรือตรี Chirstopher J. Sweeney เป็น ผู้บัญชาการกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีที่ 11 และมี นาวาเอก Craig C. Sicola เป็น ผู้บังคับการเรือ "USS Nimitz"
โดยกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีที่ 11 ได้ปฏิบัติภารกิจการลาดตระเวนและฝึกร่วมกับชาติพันธมิตรในพื้นที่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ก่อนที่จะเดินทางเข้าเยี่ยมเยือนเมืองท่าประเทศไทย โดยมีกำหนดการเดินทางกลับในวันที่ 29 เม.ย. 2566 เพื่อปฏิบัติภารกิจภายใต้กองเรือที่ 7 ต่อไป