ข่าว

กรมศิลปากร ค้นพบรากฐานเดิมสมัยอยุธยา โบสถ์โบราณ วัดปราสาท นนทบุรี

กรมศิลปากร ค้นพบรากฐานเดิมสมัยอยุธยา โบสถ์โบราณ วัดปราสาท นนทบุรี

29 เม.ย. 2566

เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าทำการบูรณะโบสถ์มหาอุตม์เก่าแก่ ค้นพบรากฐานดั่งเดิมระบุสมัยอยุธยา นำเป็นข้อมูลการปฏิสังขรณ์

อีกหนึ่งการค้นพบเพื่อวางแนวทางอนุรักษ์ แฟนเพจ วัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี ได้เผยแพร่ภาพการขุดสำรวจรากฐานเดิมของซุ้มประตูอุโบสถและสำรวจฐานเดิมของตัวอุโบสถวัดปราสาท นนทบุรี โดยเจ้าหน้าที่กองโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร

การค้นพบฐานดั่งเดิมโบสถ์มหาอุตม์ ภาพจากแฟนเพจ วัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี

ทำการขุดสำรวจได้พบรากฐานเดิมสมัยอยุธยาอยู่ลึกลงไปเมตรกว่า จากระดับฐานอุโบสถวัดปราสาทในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการพบตัวฐานรากเดิม ซึ่งมีความเก่าแก่กว่าตัวอุโบสถที่ผ่านการบูรณะมาอย่างต่อเนื่องในหลายช่วงเวลา โดยรากฐานที่ค้นพบนี้ มีการประเมินว่าเป็นสมัยอยุธยา ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการเก็บข้อมูล เพื่อจะนำมาประกอบกับการบูรณะอุโบสถให้มีความแข็งแรงต่อไปในอนาคต
โบสถ์มหาอุตม์ ภาพจากแฟนเพจ วัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี

สำหรับ วัดปราสาท โบราณสถานแห่งชาติ ตั้งอยู่เลขที่ 18 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นวัดสังกัดมหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2310 เป็นปีที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่า สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางประมาณสมัยพระเจ้าทรงธรรม สร้างโดยเจ้าพระยากลาโหม (องค์ไล)

การค้นพบฐานดั่งเดิมโบสถ์มหาอุตม์ ภาพจากแฟนเพจ วัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี

ผู้ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์ในพระนาม พระเจ้าปราสาททอง ต้นราชวงศ์ปราสาททอง เป็นพระราชบิดาของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สร้างสมัย สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงเสด็จมาตั้งพลับพลาที่ประทับ เพื่อขุดคลองลัดจากวัดท้ายเมือง ถึงปากคลองบางกรวยหน้าวัดเขมาภิรตาราม และเป็นสถานที่ระดมพล (ค่ายทหาร) เพื่อเตรียมทัพไปรบกับพม่าที่กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ในราชวงศ์ปราสาททอง พ.ศ. 2173 – 2198

การค้นพบฐานดั่งเดิมโบสถ์มหาอุตม์ ภาพจากแฟนเพจ วัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี
อุโบสถมีลักษณะเด่นคือ “อุโบสถแบบมหาอุตม์” คือ ผนังด้านข้างทั้งสองไม่มีหน้าต่างด้านหน้ามีประตูทรงปราสาท ประดับลวดลายปูนปั้นด้านหลังมีเพียงช่องแสงเล็ก ๆ หลังพระประธานเวลาแสงส่องผ่าน ทำให้เกิดรัศมีเจิดจ้ากระจายรอบองค์พระสวยงาม
 

ผนังอุโบสถมีภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่น เรื่องทศชาติสมัยอยุธยาตอนปลาย ฝีมือสกุลช่างชั้นสูงนนทบุรี สันนิษฐานว่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุด ภายในอุโบสถมีพระประธานนามว่า พระพุทธปราสาททอง(หลวงพ่อใหญ่) ศิลปะสมัยอู่ทอง และพระพุทธรูปอันดับเก่าแก่อายุตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นถึงตอนปลายจำนวน 25 องค์ ลักษณะของอุโบสถโค้งตกท้องช้าง อันเป็นเอกลักษณ์ของอุโบสถสมัยอยุธยา กรมศิลปากร  ได้ขึ้นทะเบียนอุโบสถวัดปราสาท  เป็นโบราณเป็นโบราณสถานแห่งชาติ     โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 79 ตอนที่ 100 ลงวันที่ 17พฤศจิกายน 2505 (โบราณสถานจังหวัดนนทบุรี  หน้าที่ 25-27)

การค้นพบฐานดั่งเดิมโบสถ์มหาอุตม์ ภาพจากแฟนเพจ วัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี
ทั้งนี้ในปัจจุบันทางวัดปราสาท กำลังดำเนินการบูรณะอุโบสถ และซุ้มประตูทรงปราสาท โดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร ดำเนินการการบูรณะ สามารถสอบถามร่วมบูรณะอุโบสถได้ที่แฟนเพจ วัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี