ข่าว

พบ 'แอม' เคยเป็น 'ตัวแทนประกันชีวิต' ขายประกัน ไป 11 ฉบับ คปภ. เร่งสอบ

พบ 'แอม' เคยเป็น 'ตัวแทนประกันชีวิต' ขายประกัน ไป 11 ฉบับ คปภ. เร่งสอบ

03 พ.ค. 2566

คปภ. สั่งตั้งทีมกลาง เร่งสอบด่วน หลังพบ 'แอม' ไซยาไนด์ เคยเป็น 'ตัวแทนประกันชีวิต' ขายประกัน ไปแล้ว 11 ฉบับ เป็นการฆ่า เอาประกัน หรือไม่

จากการสืบสวนขยายผล ภายหลังจับกุม “แอม” ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หลังก่อเหตุ วางยา ฆ่าเหยื่อ ด้วยสาร “ไซยาไนด์” และยังพบว่ามีผู้เสียชีวิตในลักษณะเดียวกันอีกหลายราย ซึ่งมีแอม เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น และจากการสอบสวน พบว่า แอมได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตด้วย จนมีคำถามตามมาว่า การฆาตกรรมดังกล่าว เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าสินไหมประกันภัยด้วยหรือไม่

 

 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้สายตรวจ ทำการตรวจสอบข้อมูล เกี่ยวกับใบอนุญาตของแอม พบว่า แอมเคยได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตจำนวน 4 ใบอนุญาต สังกัด 3 บริษัท ดังนี้

 

  • ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตของ บริษัท เอไอเอ จำกัด วันออกใบอนุญาต 3 ก.พ. 2555 หมดอายุ 2 ก.พ. 2556
  • ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตของ บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) วันออกใบอนุญาต 13 มี.ค. 2558 หมดอายุ 12 มี.ค. 2559
  • ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตของ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) วันออกใบอนุญาต 19 ก.ย. 2562 วันหมดอายุ 18 ก.ย. 2563 และวันออกใบอนุญาต 15 ก.พ. 2564 วันใบอนุญาตหมดอายุ 14 ก.พ. 2565 โดยปัจจุบันใบอนุญาตทั้งหมดได้หมดอายุแล้ว

 

นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบข้อมูลเพิ่มเติมในเบื้องต้นว่า แอมได้ขายกรมธรรม์ประกันชีวิต จำนวน 11 กรมธรรม์ ประกอบด้วย

  • บริษัท เอไอเอ จำกัด จำนวน 8 กรมธรรม์ โดยเสนอขายเมื่อปี 2555 ซึ่งกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าว ณ ปัจจุบัน ได้สิ้นผลบังคับไปแล้ว โดยในระหว่างความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย ไม่มีการเคลมกรณีเสียชีวิต
  • บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 กรมธรรม์ เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตของบุตรของแอม และไม่มีการเคลมกรณีเสียชีวิต
  • บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 กรมธรรม์ ซึ่งไม่มีการเคลมกรณีเสียชีวิต

 

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเตือนว่า ผู้ใดก็ตาม กระทำให้บุคคลเสียชีวิตเพื่อหวังเงินประกันภัย นอกจากจะถูกดำเนินคดี และมีความผิดทางอาญาฐานฆ่าผู้อื่นแล้ว หากมีการพิสูจน์ทราบว่า ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย มีส่วนกระทำความผิดร่วมด้วย บริษัทประกันภัยอาจจะอ้างเหตุไม่จ่ายเงินตามสัญญาประกันภัยได้ และถ้าเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัย จะมีความผิดทางอาญาด้วย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ