ข่าว

ห้ามพลาดชม 'จันทรุปราคาเงามัว' คืน ดวงจันทร์เต็มดวง 5 พ.ค. 66

ห้ามพลาดชม 'จันทรุปราคาเงามัว' คืน ดวงจันทร์เต็มดวง 5 พ.ค. 66

04 พ.ค. 2566

จันทรุปราคา 2566 : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ชวนชมปรากฎการณ์ 'จันทรุปราคาเงามัว' ในคืน ดวงจันทร์เต็มดวง 5 พ.ค. 2566 ห้ามพลาด

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เชิญชมปรากฎการณ์ “จันทรุปราคาเงามัว” ซึ่งตรงกับคืนดวงจันทร์เต็มดวง เรียกได้ว่า ปี 2566 เกิดปรากฎการณ์นี้ให้ชมเพียงครั้งเดียว ส่วนปรากฎการณ์ “จันทรุปราคา 2566” ยังมีให้ชมอีกครั้งในเดือน ต.ค.

 

 

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยว่า คืนวันศุกร์ที่ 5 พ.ค. ถึงเช้ามืดวันเสาร์ที่ 6 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นคืนดวงจันทร์เต็มดวง จะเกิดปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเงามัว” ช่วงเวลาประมาณ 22:14 - 02:31 น. (ตามเวลาประเทศไทย)

 

จันทรุปราคาเงามัว

โดยดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่เงามัวของโลก ตั้งแต่เวลาประมาณ 22:14 น. ของวันที่ 5 พ.ค. 2566 และเข้าสู่เงามัวมากที่สุดเวลาประมาณ 00:22 น. ของวันที่ 6 พ.ค. 2566 จากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนออกจากเงามัว จนสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลาประมาณ 02:31 น. สังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างยาก มองด้วยตาเปล่าไม่ชัดเจน

 

 

เนื่องจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกบางส่วน และไม่ได้ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามืด ดวงจันทร์จึงไม่ปรากฏเว้าแหว่ง จะยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่มีความสว่างในส่วนที่อยู่ในเงามัวลดลงเท่านั้น หากถ่ายภาพเปรียบเทียบความสว่างขณะเกิดปรากฏการณ์ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น    

 

จันทรุปราคาเงามัว

จันทรุปราคาเงามัว คืออะไร

 

 

จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral lunar eclipse) เกิดจากดวงจันทร์ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามัวของโลก ซึ่งเป็นเงาที่มีความสว่างมากกว่าเงามืดและมองเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่า ยิ่งพื้นผิวของดวงจันทร์เข้าไปในเงามัวไม่มากนัก ก็จะยิ่งสังเกตเห็นได้ยาก ทำให้ไม่ค่อยมีการแจ้งถึงปรากฏการณ์นี้ให้คนทั่วไปได้ทราบ

 

จันทรุปราคาเงามัว

 

จันทรุปราคา 2566

 

จันทรุปราคาบางส่วน 29 ต.ค. 2566

แม้จะไม่มีปรากฎการณ์จันทรุปราคาเงามัว แต่ในปี 2566 ยังมีปรากฎการณ์จันทรุปราคาบางส่วน โดยหลังเที่ยงคืน ของคืนวันเสาร์ที่ 28 ต.ค. เข้าสู่เช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 29 ต.ค. 2566 จะเกิดจันทรุปราคาบางส่วน ทำให้พื้นผิวด้านทิศใต้ของดวงจันทร์ มีลักษณะแหว่งเว้าไปเล็กน้อย บริเวณที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้ ได้แก่ ด้านตะวันตกของอเมริกา ยุโรป แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะเกิดจันทรุปราคา ดวงจันทร์อยู่ในกลุ่มดาวแกะ มองเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่สูงเหนือดวงจันทร์ประมาณ 7° ประเทศไทยสามารถสังเกตจันทรุปราคาครั้งนี้ได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด ขณะบังลึกที่สุด เงามืดของโลกบดบังดวงจันทร์ราว 12 เปอร์เซนต์ เมื่อวัดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลาง