ไทยเครือข่าย 'ทุนจีนเทา' อาชญากรรมข้ามชาติ แหล่งฟอกเงิน?
ไทยเครือข่าย 'ทุนจีนเทา' ช่องทางผ่านเข้า-ออก ที่พัก กบดาน เชื่อมโยงเมืองเชวโก๊กโกะ จนถึงแหล่งฟอกเงินผ่านธุรกิจที่เชื่อมต่อกับธุรกิจสีเทา
การขยายอิทธิพลและแทรกซึมเข้ามาของกลุ่ม "ทุนจีนสีเทา" ในประเทศไทย กลายเป็นมหากาพย์ที่นึกภาพขนาดความเสียหายไม่ออกว่าจะลุกลามบานปลายไปขนาดไหน ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยโดยรวมอย่างไร และรัฐจะจัดการปัญหานี้ด้วยวิธีไหน โดยเฉพาะการเด็ดหัว “เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ” ซึ่งเกี่ยวพันกับการ “ฟอกเงิน” และทำกันเป็นขบวนการอย่างแนบเนียบ ซ้ำร้ายมีกลไกรัฐเข้าไปมีส่วนสนับสนุนอยู่ด้วย
ในมุมมองนักวิชาการ ศ. ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉายภาพ "ทุนจีนสีเทา" ผ่านบทสัมภาษณ์ทาง ‘อีเมล’ ในไม่กี่คำถาม แต่ก็ทำให้เห็นถึงปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดขบวนการ “เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ” ที่ผ่านเข้าออกบริเวณชายแดน โดยเชื่อมโยงกับบ่อนคาสิโน การพนันออนไลน์ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ฯลฯ และหนี้ไม่พ้น “การฟอกเงิน”
- ปัจจัยที่ทำให้กลุ่ม "ทุนจีนสีเทา" เริ่มขยายอาณาเขตออกนอกประเทศตัวเอง
มีหลายปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรก นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนเริ่มตั้งต้นกวาดล้างองค์กรอาชญากรรม (organized crime) ในประเทศ โดยเริ่มโครงการรณรงค์กวาดล้างอาชญากรรมใต้ดินในระยะ 3 ปี ที่เรียกว่า “扫黑除恶” แปลตรงตัวว่า กวาดล้างความมืดมิดและสิ่งชั่วร้าย ตามมาด้วยการออกกฎหมายต่อต้านองค์กรอาชญากรรม (Anti-organaized crime) ในปี 2564 ซึ่งเป็นกฎหมายกวาดล้างอาชญากรรมฉบับแรกที่มีขึ้นในจีน ที่ทำให้การกวาดล้างขบวนการอาชญากรรมเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยมีกฎหมายที่ให้อำนาจเต็มที่
การกวาดล้างอาชญากรรม มาเฟีย สังคมนอกกฎหมายขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นในจีน ทำให้องค์กรอาชญากรรมต่างๆ ต้องปรับตัว ทั้งเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ขององค์กร และการหาลู่ทางในการออกมาทำธุรกิจอาชญากรรมนอกประเทศ
ปัจจัยที่สอง การเกิดขึ้นของโครงการ BRI (Belt and Road Initiative) หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของรัฐจีนในภูมิภาค เปิดโอกาสให้ธุรกิจสีเทา เกาะกระแสดังกล่าว ใช้โครงการ BRI เป็นใบเบิกทาง สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับธุรกิจสีเทา เช่น โครงการสร้างเมืองใหม่ที่เชื่อมต่อกับเส้นทาง BRI และใช้ภาพลักษณ์นั้นปิดบังธุรกิจผิดกฎหมาย
ปัจจัยที่สาม ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ตอบรับการลงทุนจากนายทุนจีน โดยการคอร์รัปชันและความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมายเป็นแรงจูงใจให้ทุนจีนสีเทาหันมาใช้ประเทศนอกจีนเป็นฐานในการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมาย
ปัจจัยที่สี่ แม้ว่ารัฐจีนจะปราบปรามองค์กรอาชญากรรมอย่างหนัก แต่ไม่ได้ทำให้อุปสงค์ด้านการพนันออนไลน์ลดลง จีนยังเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของผู้เล่นพนันออนไลน์ ซึ่งพนันออนไลน์ และอุตสาหกรรม call center ที่เติบโตขึ้นภายหลัง เป็นธุรกิจที่แม้จะถูกปราบปรามก็สามารถย้ายฐานไปที่ไหนก็ได้
“ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบบราชการง่ายต่อการรับสินบน เจรจาง่าย ง่ายต่อการเข้ามาลงทุนสิ่งผิดกฎหมาย ยกตัวอย่าง นายเฉอ จื้อเจียง ประธานบริษัท หย้าไถ้ กลุ่มทุนหลักในชเวโก๊กโกะ ซึ่งถูกจับในไทยเมื่อปีที่แล้ว ทำกิจการคาสิโนมาก่อนที่สีหนุวิลล์ก็ถือสัญชาติกัมพูชา ทั้งที่เป็นคนจีน การได้สัญชาติโดยง่าย ทำให้ง่ายต่อการดำเนินธุรกิจต่างๆ ในประเทศกัมพูชา ก่อนจะถูกทางการจีนร่วมกับทางการกัมพูชาเข้ากวาดจับ จึงย้ายมาที่เมียวดี
“กล่าวโดยสรุปคือ การมีธรรมาภิบาลที่อ่อนแอของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้กลุ่มทุนจีนสีเทาเข้ามาดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายในประเทศเหล่านี้ แต่ก็มีข้อยกเว้น เราจะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดอย่างเช่น สิงคโปร์ ยากที่กลุ่มทุนสีเทาเหล่านี้จะเข้าไปดำเนินการ”
• ทำไมขบวนการนี้จึงมองมาที่ประเทศตะเข็บชายแดน
ชายแดนเป็นแหล่งที่มีสถานะเชิงยุทธศาสตร์อย่างน้อย 3 ประการที่สำคัญ ประการแรก ห่างไกลการควบคุมจากจีน โดยเฉพาะชายแดนประเทศในภูมิภาคที่ไม่ติดจีน ทำให้รัฐจีนเข้ามาควบคุมกำกับโดยตรงได้ยาก เช่น ไม่สามารถตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต หรือไม่สามารถควบคุมไม่ให้ชาวจีนเดินทางเข้ามาในพื้นที่ได้ง่ายนัก
ประการที่สอง ชายแดนระหว่างประเทศเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศที่สามารถเคลื่อนย้ายทุนและผู้คนไปมาได้สะดวก โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ BRI ให้ความสำคัญในการสร้างโครงการพัฒนาให้เขตชายแดนเป็นเขตที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้จีนขยายอิทธิพลมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ และกลุ่มทุนจีนสีเทามักใช้ข้ออ้างของการสร้าง connectivity ที่เชื่อมโยงกับ BRI ในการโฆษณาโครงการเมืองใหม่ของตน
ประการที่สาม พื้นที่ชายแดนหลายแห่งมักอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐท้องถิ่น หรือกลุ่มการเมืองในพื้นที่ เช่น ชเวโก๊กโกะ ภายใต้การปกครองของ BGF หรือเมืองต้นผึ้ง ภายใต้แขวงบ่อแก้ว ซึ่งง่ายต่อการเจรจาต่อรองเชิงผลประโยชน์ หรือสร้าง deal ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยที่รัฐท้องถิ่นไม่เข้ามาก้าวก่ายในธุรกิจที่ดำเนินอยู่ในพื้นที่ เปิดโอกาสให้อำนาจกับกลุ่มทุนจีนในการดำเนินกิจการผิดกฎหมายได้เต็มที่
• มูลค่าเงินทุนหมุนเวียนในชเวโก๊กโกะอยู่ที่เท่าไหร่ และการลงทุนสร้างเมืองเชวโก๊กโกะใช้เงินเท่าไหร่
ตามที่บริษัท ย่าไถ้ (Yatai IHG) อ้างโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเชวโก๊กโกะ บนพื้นที่กว่า 120 ตารางกิโลเมตรจะใช้เงินทุนในการพัฒนากว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างเมืองใหม่ที่อ้างว่าจะประกอบไปด้วยธุรกิจคาสิโน โรงแรม แหล่งบันเทิง เทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ ไม่มีใครทราบว่าเงินทุนหมุนเวียน หรือรายได้ที่สร้างธุรกิจผิดกฎหมายจากชเวโก๊กโกะนั้นมีตัวเลขอยู่ที่เท่าไหร่ แต่หากพิจารณาจากอุตสาหกรรมพนันออนไลน์ที่เคยสร้างรายได้กว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในจีน ที่ถูกปราบปรามอย่างหนักแล้ว รายได้จากธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ ในชเวโก๊กโกะน่าจะมีตัวเลขที่สูงไม่น้อย
• ธุรกิจสีเทาในเมืองชเวโก๊กโกะมีอะไรบ้าง
พนันออนไลน์, call center, ค้ามนุษย์ (ซื้อขายแรงงานมาทำงาน call center), ค้าบริการทางเพศ, ยาเสพติด
“ระบบไฟและอินเตอร์เน็ตในเมียนมาไม่เสถียร และไม่สามารถรองรับการสร้างเมืองใหญ่ขนาดชเวโก๊กโกะ เท่าที่ติดตามมาไฟฟ้าน่าจะซื้อจากไทย รวมทั้งอินเตอร์เน็ตมีเสาส่งสัญญาณตลอดริมน้ำเมยของค่ายใหญ่บางค่าย ซึ่งหมายความว่า เอกชนไทย และรัฐวิสาหกิจไทย มีส่วนในการสนับสนุนธุรกิจสีเทาข้ามพรมแดนนี้”
• การเติบโตของเมืองชเวโก๊กโกะจะส่งผลกับประเทศรอบๆ โดยเฉพาะไทยยังไงบ้าง
เนื่องจากเมืองชเวโก๊กโกะ เป็นเมืองการพนันและแหล่งอาชญากรรม ถ้าปล่อยให้เมืองนี้เติบโต ประเทศรอบข้างจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอาชญากรรม ไทยตอนนี้กลายเป็นทั้งเมืองที่เป็นทางผ่านของทุนและแรงงานอาชญากรรมผิดกฎหมาย เป็นที่พัก ที่กบดาน ที่ฟอกเงินผ่านธุรกิจที่เชื่อมต่อกับธุรกิจสีเทา เช่น ธุรกิจบันเทิงต่างๆ การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ได้ง่าย เอื้ออำนวยให้สามารถนำเงินสีเทามาฟอกผ่านการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนในกิจการบันเทิงต่างๆ ซึ่งหมายถึงไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจสีเทาโดยปริยาย
ประเด็นที่สื่อมวลชนควรเจาะเพิ่มเติมคือ ธุรกิจสีเทาในชเวโก๊กโกะจะไม่สามารถเติบโตได้ หากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ โดยเฉพาะไฟฟ้า และอินเตอร์เน็ต เนื่องจากระบบไฟและอินเตอร์เน็ตในเมียนมาไม่เสถียร และไม่สามารถรองรับการสร้างเมืองใหญ่ขนาดชเวโก๊กโกะ เท่าที่ติดตามมาไฟฟ้าน่าจะซื้อจากไทย รวมทั้งอินเตอร์เน็ตมีเสาส่งสัญญาณตลอดริมน้ำเมยของค่ายใหญ่บางค่าย ซึ่งหมายความว่า เอกชนไทย และรัฐวิสาหกิจไทย มีส่วนในการสนับสนุนธุรกิจสีเทาข้ามพรมแดนนี้ อาจลองไปหาทางสัมภาษณ์การไฟฟ้าภูมิภาคที่แม่สอด และค่ายมือถือสำคัญในแม่สอดดู ถ้าดูตัวเลขการส่งออกมือถือไปเมียวดีในปีที่ผ่านมา ตัวเลขสูงมาก กิจการคอลเซนเตอร์ใช้มือถือเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากฝั่งไทย
อ่านเพิ่มเติม - Belt and Road Initiative (BRI) โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 หรือยุทธศาสตร์หลักของจีนในการขยายอิทธิพลบนเวทีโลกผ่านการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งกับนานาประเทศ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และครอบคลุมกว่า 80 ประเทศทั่วโลก http://www.cuti.chula.ac.th/triresearch/saimai/2/saimai.html และ https://www.scbeic.com/th/detail/product/6095