'โควิด19' แนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ยังไม่ผ่อนมาตรการป้องกันโรค
กระทรวงสาธารณสุข เตือนสถานการณ์ 'โควิด19' เป็นช่วงขาขี้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องภายหลังเทศกาลสงกรานต์ ยังไม่ผ่อนมาตรการป้องกันโรค
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของ 'โควิด19' ในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องภายหลังเทศกาลสงกรานต์ สัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 2,356 ราย เฉลี่ยวันละ 336 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 39% เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักแพทย์วินิจฉัย ปอดอักเสบ และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ เพิ่มขึ้นประมาณ 45% ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยมากกว่าครึ่ง (55%) เป็นกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ที่เหลือเป็นผู้ที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่อ โรคโควิด19 ลดลงมาก ได้แก่ ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มล่าสุด หรือติดเชื้อแล้วนานเกิน 6 เดือน
ขอแนะนำประชาชนเข้ารับ วัคซีนโควิด พร้อมกับ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักจากทั้ง 2 โรค และเน้นย้ำหากป่วยด้วยอาการทางเดินหายใจ ให้ตรวจ ATK รวมทั้งหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 เมื่อตรวจพบผลบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากาก และสังเกตอาการ หากมีอาการมากให้ไปพบแพทย์ สำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ให้ไปรับบริการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ได้ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลภาครัฐสังกัดอื่น ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมี ยา เวชภัณฑ์สำรอง และเตียงเพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรง
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2566 องค์การอนามัยโลก ประกาศสิ้นสุดภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ กรณี โรคโควิด19 แต่ยังเตือนให้ทุกประเทศยังคงต้องเฝ้าระวัง และป้องกันควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อให้มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 เพียงพอในระดับบุคคลและประชากร เพื่อลดโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด 19 โดยสามารถใช้วัคซีนชนิดใดหรือรุ่นใดก็ได้ ฉีดปีละ 1 ครั้ง
ทั้งนี้ ให้เว้นระยะห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน ที่สำคัญสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง และในสัปดาห์นี้โรงเรียนมีการเปิดภาคเรียน ขอให้ผู้ปกครองและครูสังเกตอาการ คัดกรองเด็กป่วยด้วยอาการทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ให้หยุดอยู่บ้านรักษาให้หายก่อน จะลดโอกาสแพร่เชื้อในโรงเรียน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422