ข่าว

WHO เปิด 7 ประเด็นสำคัญ 'วัคซีนโควิด' ในอนาคตควรฉีดแบบไหน

WHO เปิด 7 ประเด็นสำคัญ 'วัคซีนโควิด' ในอนาคตควรฉีดแบบไหน

22 พ.ค. 2566

เปิด 7 ประเด็นสำคัญ ที่ องค์การอนามัยโลก แนะนำทั่วโลกการฉีด 'วัคซีนโควิด' ในอนาคตควรฉีดแบบไหน ช่วงอายุแบบไหนที่ไม่ควรฉีด

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดข้อมูล 7 ประเด็นสำคัญที่ องค์การอนามัยโลก 'WHO' แนะนำทั่วโลกถึงช่วงเวลาการฉีด 'วัคซีนโควิด' ในแต่ละกลุ่มประชากร รวมทั้งประเภทของ สายพันธุ์ โอไมครอน XBB.1 ที่ควรนำไปใช้ในการผลิตวัคซีนโควิดในอนาคต

 

 

โดยเน้นที่วัคซีนสายพันธุ์เดี่ยวหรือ 'วัคซีนโมโนวาเลนต์' (Monovalent XBB.1 COVID vaccine) เพื่อหลีกเลี่ยงปรากฏการณ์ "การประทับตราทางอิมมูน (immune imprinting)"

 

ที่ปรึกษาสองกลุ่มของ องค์การอนามัยโลก คือ กลุ่มที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน (the World Health Organization’s Strategic Advisory Group of Experts on Immunization:SAGE) และกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับองค์ประกอบของวัคซีนโควิด-19 (WHO's Technical Advisory Group on COVID-19 Vaccine Composition:TAG-CO-VAC) ได้ให้คำแนะนำแก่ชาติสมาชิกทั่วโลกเกี่ยวกับช่วงเวลาการฉีด 'วัคซีนโควิด' ในแต่ละกลุ่มประชากรและสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ควรนำมาใช้เป็นต้นแบบของการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ โควิด-19 ในอนาคตให้มีประสิทธิภาพสูง เมื่อวันที่ 28 มี.ค. และ 18 พ.ค. 2566 ตามลำดับ

 

 

คำแนะนำดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ องค์การอนามัยโลก ยกเลิกภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของโควิด-19 เมื่อประมาณสองสัปดาห์ก่อน (4 พ.ค. 2566) โดยมี 7 ประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

 

1. วัคซีนในอนาคตควรมุ่งเป้าไปที่โอไมครอนกลุ่ม XBB.1* (XBB.1.5, XBB.1.16, และ XBB.1.9.1) โดยที่สายพันธุ์ดั้งเดิมของ SARS-CoV-2 กล่าวคือ ไวรัสดั้งเดิมอู่ฮั่น อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา ไม่ควรนำมาใช้เป็นหัวเชื้อผลิตวัคซีนอีกต่อไป เนื่องจากปริมาณการระบาดไหลเวียนติดเชื้อในมนุษย์ทั่วโลกลดลงและภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาจากสายพันธุ์เหล่านี้จะมีประสิทธิภาพต่ำในการเข้าจับและทำลายโอมิครอนสายพันธุ์ปัจจุบัน

 

2. วัคซีนป้องกันโควิด-19 สองสายพันธุ์ (สายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่น + โอมิครอน BA.4/BA.5) ที่มีอยู่ เช่น วัคซีนไบวาเลนต์บูสเตอร์ในสหรัฐฯ แม้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต แต่ก็มีประสิทธิภาพต่ำในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ปัจจุบัน เนื่องจากแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังฉีด

 

3. การแก้ไขแนวทางการให้วัคซีน แนะนำว่าเด็กและวัยรุ่น อายุตั้งแต่ 6 เดือน-17 ปีที่มีสุขภาพดีอาจ "ไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีน" อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุและกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงควรได้รับการฉีดเข็มกระตุ้นภายใน 6 ถึง 12 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนครั้งสุดท้าย

 

4. วัคซีนในอนาคตอาจพิจารณาใช้สายพันธุ์ลูกผสม โอไมครอนกลุ่ม  XBB.1 และลูกหลาน เพียงชนิดเดียว (โมโนวาเลนต์) เช่น XBB.1.5, XBB.1.16, หรือ XBB.1.9.1  เป็นหัวเชื้อหรือแอนติเจนที่ใช้ผลิตวัคซีน (monovalent XBB.1 COVID vaccine)

 

5. ไม่แนะนำให้ใช้สายพันธุ์เก่ามาเป็นหัวเชื้อร่วมกับสายพันธุ์ใหม่ (ไบวาเลนต์) แม้ผลกระทบทางคลินิกจะยังไม่ชัดเจนแต่มีหลักฐานในหลอดทดลองบ่งชี้ว่าหากใช้สายพันธุ์เดิมฉีดกระตุ้นซ้ำๆจะทำให้การสร้างแอนติบอดีของเม็ดเลือดขาวต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ไปเล็กน้อยลดประสิทธิภาพลง (การประทับตราทางอิมมูน: immune imprinting*) จึงควรใช้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่เท่านั้นในการผลิตวัคซีนในอนาคต

 

6. คำแนะนำสำหรับวัคซีนโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลกอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามลักษณะการแพร่ระบาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

 

7. องค์ประกอบแอนติเจนของวัคซีน COVID-19 ในอนาคต จะได้รับการประเมินเป็นประจำโดย TAG-CO-VAC ซึ่งพิจารณาจากวิวัฒนาการของไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสอย่างต่อเนื่อง

 

 

การฉีดกระตุ้นด้วย 'วัคซีน' ที่ใช้ไวรัสตัวเดิมซ้ำๆ อาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีกล่าวคือเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "การประทับตราทางอิมมูน : Immune imprinting" เป็นกระบวนการที่ระบบภูมิคุ้มกันของเราเรียนรู้จดจำรูปลักษณ์ของไวรัสที่ใช้ผลิตวัคซีน เช่น ในกรณีของ 'วัคซีนโควิด' ที่ใช้ไวรัสดั้งเดิมอู่ฮั่นมาโดยตลอด ข้อดีคือจะช่วยให้ร่างกายของเราตอบสนอง(สร้างแอนติบอดี) ได้เร็วขึ้นหากพบไวรัสตัวเดิมอีกในอนาคต

 

อย่างไรก็ตามหากร่างกายเรากลับพบกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ระบบภูมิคุ้มกันอาจยังคงจดจำรูปแบบเดิมของไวรัสสายพันธุ์เก่าที่เรียนรู้จากการรับวัคซีน ทำให้ไม่สร้างแอนติบอดีต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือสร้างน้อย อุบัติการณ์นี้พบได้ในหลอดทดลองแต่ยังไม่มีความชัดเจนในระบบร่างกายมนุษย์