เช็กพื้นที่เสี่ยง 'น้ำท่วมฉับพลัน' และ น้ำป่าไหลหลาก ช่วง 27 พ.ค.-1 มิ.ย. 66
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือนเฝ้าระวัง 'น้ำท่วมฉับพลัน' และ น้ำป่าไหลหลาก ช่วง 27 พ.ค.-1 มิ.ย. 2566 เช็กพื้นที่เสี่ยงที่นี่
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 4/2566 เรื่อง เฝ้าระวัง 'น้ำท่วมฉับพลัน' น้ำไหลหลาก โดย กอนช. ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางจะเคลื่อนเข้ามาปกคลุมประเทศลาวและกัมพูชา ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมี ฝนตกหนัก บางแห่ง โดยมี ฝนตกหนักมาก บริเวณภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมี ฝนตกหนักถึงหนักมาก บางแห่ง ในช่วงวันที่ 27 พ.ค. - 1 มิ.ย. 2566
ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำนองไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 27 พ.ค. - 1 มิ.ย. 2566 ดังนี้
1. ภาคเหนือ
- จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มเก่า)
2. ภาคกลาง
- จังหวัดเพชรบุรี (อำเภอท่ายาง บ้านลาด และเมืองเพชรบุรี)
- จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอหัวหิน และปราณบุรี)
3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอเมืองสุรินทร์)
- จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอเมืองบุรีรัมย์)
- จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี และพิบูลมังสาหาร)
4. ภาคตะวันออก
- จังหวัดชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี)
- จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง และแกลง)
- จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี)
- จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด และเขาสมิง)
5. ภาคใต้
- จังหวัดชุมพร (อำเภอพะโต๊ะ)
- จังหวัดระนอง (อำเภอกะเปอร์ เมืองระนอง และสุขสำราญ)
- จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง)
- จังหวัดภูเก็ต (อำเภอกะทู้ ถลาง และเมืองภูเก็ต)
- จังหวัดกระบี่ (อำเภอเกาะลันตา คลองท่อม เมืองกระบี่ เหนือคลอง และอ่าวลึก)
- จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง กันตัง และปะเหลียน)
- จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า)
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำนองไม่สามารถระบายได้ทัน
2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
3. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์