ข่าว

'โซดาไฟ' อันตรายแค่ไหน ควรทำอย่างไรเมื่อร่างกายโดนสารเคมีชนิดนี้

'โซดาไฟ' อันตรายแค่ไหน ควรทำอย่างไรเมื่อร่างกายโดนสารเคมีชนิดนี้

24 พ.ค. 2566

รู้จัก 'โซดาไฟ' สารเคมีสุดอันตราย อันตรายแค่ไหน ควรทำอย่างไรเมื่อร่างกายได้รับสารเคมีชนิดนี้ รวมถึงการป้องกัน

เป็นเหตุการณ์ที่สร้างอุทธาหรณ์สำหรับผู้ที่ใช้ 'โซดาไฟ' เมื่อมีสาววัย 33 ปี ได้ออกมาแชร์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง โดยเธอได้รับบาดเจ็บจากการใช้ 'โซดาไฟ' ราดตัวจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องรักษาอาการนานเกือบ 2 เดือน เสียค่าใช้จ่ายเกือบ 2 ล้านบาท

 

 

'โซดาไฟ' นั้น ปกติแล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง แต่ใครจะรู้ว่ามีข้อเสียและอันตรายมากแค่ไหน คมชัดลึก ได้รวบรวมข้อมูลถึงอันตราย หากโดนตามร่างกายจะเกิดผลอะไรบ้าง

 

'โซดาไฟ' หรือ โซเดียมไฮดอกไซด์ (Sodium Hydroxide) เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นของแข็งสีขาวในรูปแบบเกล็ด เม็ด แผ่น หรือแท่ง ไม่มีกลิ่น มีฤทธิ์กัดกร่อนมาก เมื่อสัมผัสกับผิวหนังอาจทำให้เกิดการไหม้อย่างรุนแรง สามารถดูดซับความชื้นจากอากาศได้ดี และเมื่อไปละลายน้ำอาจทำให้เกิดความร้อนได้

 

 

หลายคนอาจคุ้นเคยว่าสารดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการทำความสะอาดท่อระบายน้ำ แต่รู้หรือไม่ว่าโซดาไฟยังถูกใช้อย่างแพร่หลายในด้านอุตสาหกรรมด้วย เช่น การผลิตสบู่ ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบ กระดาษ กระดาษแก้ว เส้นใยเรยอน อลูมิเนียม และเคมีภัณฑ์ การชุบมันผ้าฝ้าย การกลั่นปิโตรเลียม อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น

 

 

อันตรายจากโซดาไฟ

 

พิษจาก โซดาไฟ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากหลายวิธีทั้งการสัมผัสกับผิวหนัง เข้าสู่ดวงตา สูดดมไอระเหยของสาร หรือรับประทานโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนี้

 

ผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ

 

  • หายใจลำบาก
  • ปอดอักเสบ หรือมีภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด
  • มีเสียงหวีดขณะหายใจ
  • ระคายเคืองเนื้อเยื่อบริเวณจมูก คอ ระบบทางเดินหายใจ
  • ลำคอ หรือกล่องเสียงบวมซึ่งอาจนำไปสู่การอุดตันของทางเดินหายใจส่วนบนหรือภาวะขาดอากาศหายใจได้

 

 

ผลกระทบต่อผิวหนัง

 

  • แสบร้อนที่ผิวหนัง
  • ลมพิษ
  • ผิวหนังระคายเคือง
  • ผิวหนังไหม้อย่างรุนแรงจนเกิดเป็นแผลลึก

 

 

ผลกระทบต่อหู ตา คอ และจมูก

 

  • ระคายเคืองตา
  • เส้นเลือดในตาเกิดการอุดตัน มีของเหลวภายในลูกตา
  • มีแผลที่กระจกตา หรือกระจกตาถูกทำลาย
  • สูญเสียการมองเห็น
  • เจ็บคออย่างรุนแรง
  • แสบร้อนในจมูก ตา หู ริมฝีปาก หรือลิ้น

 

 

ผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร

 

  • อาเจียน โดยอาจมีเลือดปนออกมาได้
  • กลืนลำบากและมีน้ำลายไหล
  • ปาก คอ หลอดอาหาร และกระเพาะอาหารถูกกัดกร่อนอย่างรุนแรง
  • เจ็บหน้าอก และปวดท้องอย่างรุนแรง
  • แสบร้อนในลำไส้และกระเพาะอาหาร
  • ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด

 

ทั้งนี้ การรับ 'โซดาไฟ' เข้าไปในร่างกายในระยะยาวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งผู้ที่สูดดมฝุ่นควันจากสารนี้อาจทำให้เกิดแผลภายในจมูก หากสัมผัสผ่านผิวหนังก็อาจป่วยเป็น โรคผิวหนัง และเมื่อรับประทานเข้าไปเป็นประจำก็อาจทำให้ระบบทางเดินอาหารทะลุ ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์และพัฒนาการของร่างกาย รวมทั้งก่อให้เกิด โรคมะเร็ง อีกด้วย

 

 

วิธีรับมือเมื่อร่างกายได้รับโซดาไฟ

 

หากได้รับ โซดาไฟ เข้าสู่ร่างกายหรือสัมผัสกับสารดังกล่าว ผู้ป่วยหรือบุคคลรอบข้างอาจปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนจะถึงมือแพทย์ต่อไป

 

  • ห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียน นอกเสียจากจะเป็นคำสั่งจากแพทย์โดยตรง
  • หากสัมผัสกับโซดาไฟที่ผิวหนังหรือเข้าสู่ดวงตา ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือรีบขจัดสารเคมีออกจากเสื้อผ้า ผิวหนัง และเส้นผมของผู้ป่วย จากนั้นให้ล้างบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที
  • หากรับประทานโซดาไฟเข้าไป ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสะอาดหรือนมทันที แต่ในกรณีที่มีอาการบางอย่างซึ่งอาจทำให้กลืนลำบากอย่างอาเจียนหรือชัก ห้ามผู้ป่วยดื่มน้ำหรือนมโดยเด็ดขาด
  • ผู้ป่วยที่สูดดมฝุ่นควันจากโซดาไฟควรออกไปยังที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ทันที

 

 

ทั้งนี้ เนื่องจาก 'โซดาไฟ' เป็น สารเคมี ที่อันตรายและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพหากรับสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย ทุกคนจึงควรระมัดระวังในการใช้งานสารนี้มากเป็นพิเศษและยังควรเก็บไว้ในที่มิดชิด ห่างจากมือบุตรหลานหรือสัตว์เลี้ยง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและคนรอบข้างมากที่สุด

 

 

ข้อมูล : Pobpad