เปิดพฤติกรรม 'แก๊งมิจฉาชีพ' สวมรอยธนาคาร ส่ง SMS ดูดเงินเหยื่อร่วมร้อยล้าน
เปิดพฤติกรรม 'แก๊งมิจฉาชีพ' อ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน ส่งข้อความสั้น SMS หลอกดูดเงินผู้เสียหาย เสียหายนับร้อยล้าน
กำลังระบาดอย่างหนัก กับขบวนการ 'แก๊งมิจฉาชีพ' ล่าสุดที่มีการส่งข้อความสั้น SMS ในลักษณะลิงก์ปลอม อ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน เพื่อหลอกดูดเงินผู้เสียหาย ซึ่งล่าสุด ได้ถูกจับกุมแล้ว โดยกรณีนี้มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อ จากขบวนการส่ง SMS ในลักษณะลิงก์ปลอม อ้างชื่อเป็นธนาคารกสิกรไทย หลอกดูดเงินผู้เสียหาย
คนร้ายจะนํา เครื่องจําลองสถานีฐาน (False Base Station) ใส่ไว้ในรถแล้วขับออกไปยังสถานที่ต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล โดยหากรถแล่นผ่านไปทางใดก็จะส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือที่อยู่บริเวณใกล้เคียง แล้วส่ง SMS ในลักษณะลิงก์ปลอม อ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน กรมสรรพากร การไฟฟ้า เป็นต้น
อุปกรณ์ "stingray" ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ปลอมเสาสัญญาณ และส่ง SMS ให้กับผู้เสียหาย ปกติจะถูกใช้กรณีเกิดภัยพิบัติที่สัญญาณมือถือไม่สามารถใช้การได้ และไว้เป็นช่องทางสื่อสารถึงผู้ประสบภัย หรือใช้ในหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา ในการดักรับข้อมูล เนื่องจากเป็นเสาสัญญาณที่มีขนาดเล็กสามารถหลอกให้มือถือในพื้นที่มาเชื่อมต่อกับเสาสัญญาณดังกล่าวได้ อีกทั้งสามารถตั้งค่าชื่อผู้ส่งเป็นหน่วยงานต่างๆ ได้
สำหรับพฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาลงมือก่อเหตุในแต่ละครั้ง ทางเครือข่ายโทรศัพท์ จะไม่ทราบว่า มีการส่ง SMS ออกไปเนื่องจาก SMS เหล่านี้ ไม่ได้ผ่านเสาสัญญาณเครือข่ายโดยตรง แต่เป็นการส่งออกจากเสาปลอมแทน
พฤติกรรมของแก๊งมิจฉาชีพ
โดยหนึ่งในผู้เสียหาย ได้เปิดเผยถึงพฤติกรรมของ แก๊งมิจฉาชีพ นี้ว่า ขณะที่นั่งทำงานอยู่ได้มี SMS ส่งมาหาตนเอง ระบุว่า "บัญชีของคุณกำลังมีผู้พยายามทำธุรกรรม" ซึ่งก็มีการแนบลิงก์มาใน SMS ตนเองได้กดไปที่ลิงก์ดังกล่าว และระบบได้ระบุให้เพิ่มเพื่อนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ และเปลี่ยนชื่อลิงก์เป็น K Connect
จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ทักมาสอบถามชื่อ และข้อมูลการใช้งานของตนว่า ทำธุรกรรมอยู่ที่จ.เชียงใหม่ หรือไม่ โดยตนเองได้ปฏิเสธและระบุว่า ตนเองอยู่ที่กรุงเทพฯ จากนั้นทางกลุ่มมิจฉาชีพได้แจ้งข้อมูลว่า มีผู้พยายามทำธุรกรรมกับบัญชีของตนผ่านจีเมล ซึ่งข้อมูลทุกอย่างที่แจ้งถูกต้องทั้งหมด รวมทั้งยังทราบด้วยว่า ตนเองมีบัญชีเงินฝากทั้งหมด 4 บัญชี
ต่อมาก็ยังให้กด แอปพลิเคชัน ที่ชื่อว่า "เค ซีเคียวริตี้" ที่ระบุว่า แอปฯ นี้จะสามารถตรวจสอบต้นตอได้ว่า บุคคลใดกำลังเข้าระบบบัญชีของตนเองอยู่ แต่ข้อเท็จจริงแล้วการกดเข้าไปคือ การรีโมทโทรศัพท์ของตนเองอยู่ และหลังจากนั้น จะไม่สามารถทำอะไรกับโทรศัพท์ได้ ลักษณะคล้ายโทรศัพท์กำลังอัปเดตอยู่ โดยขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์
เมื่อโทรศัพท์อัปเดตเสร็จสิ้น ก็พบว่า เงินได้ถูกโอนออกไปแล้วจากทั้งหมด 4 บัญชี เป็นจำนวนราว 3 แสนกว่าบาท และจากบัญชีบัตรเครดิตที่มิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ และเข้าไปเปลี่ยนวงเงินเป็นเงินสดอีกราว 8 หมื่นบาท รวมทั้งหมดเสียหายรวมกว่า 4 แสนบาท ซึ่งรวมเวลาที่ แก๊งมิจฉาชีพ ใช้ในการหลอกทำธุรกรรมอยู่ที่ราว 30-35 นาที