ข่าว

เปิดสติ๊กเกอร์ส่วย 46 ป้าย หลังมอบหลักฐานทั้งหมดถึงมือ 'วิโรจน์' แล้ว

เปิดสติ๊กเกอร์ส่วย 46 ป้าย หลังมอบหลักฐานทั้งหมดถึงมือ 'วิโรจน์' แล้ว

01 มิ.ย. 2566

เปิดรายชื่อ "สติ๊กเกอร์ส่วย" 46 ป้าย และเอกสารห่อหนา ส่งให้ "วิโรจน์" และพรรคก้าวไกล ช่วยปราบส่วยรถบรรทุกทางหลวง ตะเวนร้องมา 20 ปี แต่ถูกข่มขู่ "วิโรจน์" รับปากหลักฐานถึงจเรตำรวจแห่งชาติ และ "จรูญเกียรติ" แน่นอน แฉอีกมีตำรวจท้องที่ด้านจราจรร่วมด้วย เตือนให้ "เลิกเถอะ"

สมาชิก "สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย" ประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือและเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับ "สติ๊กเกอร์ส่วย" หรือส่วยทางหลวง ให้แก่ "นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร" ว่าที่ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เรียกร้องให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหา สามารถนำคนทำผิดมาลงโทษให้ได้

 

 

ก่อนยื่นหลักฐาน ทาง สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ บอกว่า ได้นำรายชื่อสติ๊กเกอร์มามอบให้สื่อมวลชนด้วย แต่ไม่ได้เตรียมกระดาษสำหรับถ่ายเอกสารแจก ขออนุญาตส่งเป็นไฟล์ข้อมูลให้แทน 

 

 

รายชื่อสติ๊กเกอร์ส่วย จากเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

 

 

รายชื่อสติ๊กเกอร์ส่วย จากเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

 

รายชื่อสติ๊กเกอร์ส่วย จากเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

 

 

"นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง" ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ บอกว่า ยุทธวิธีการมีส่วยเกิดมาตั้งแต่ปี 2539 เพิ่มความรุนแรงมาจนถึงทุกวันนี้ ก่อนหน้านี้เคยมีการรับส่วยตามถนน แต่รายการข่าวสามารถบันทึกภาพวีดิโอไว้ได้ ส่วยทางหลวงรีดบนถนนจึงหายไป แต่พัฒนาขึ้นมาเป็น "สติ๊กเกอร์ส่วย" เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของแต่ละเจ้า 

 

 

ตัวเลขผู้ประกอบการทั้งหมด 1,500,000 ราย มีผู้ประกอบการที่อยู่ในสมาพันธ์ 400,000 ราย ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการทั้งหมด ในจำนวนนี้ไม่มีใครทำผิดกฎหมาย ส่วนจำนวนที่เหลือ 1 ล้านราย สามารถพูดได้ว่ามี 20% หรือประมาณ 200,000 คัน ต้องจ่ายค่าสติ๊กเกอร์ให้เจ้าหน้าที่

 

 

ราคามีหลายเกรด ตั้งแต่ 3,000-5,000 บาท ไล่เกรดไปถึง 6,000-8,000 บาท และ 10,000-15,000 บาท จากนั้นก็เพิ่มระดับไปเรื่อยๆ จนถึงระดับพรีเมี่ยมที่สามารถบรรทุกของไม่จำกัดน้ำหนักได้ จึงตั้งคำถามว่า ถนนที่ก่อสร้างมาด้วยงบประมาณหลายแสนล้านมาถูกทำลายด้วย "สติ๊กเกอร์ส่วย" จึงต้องเปิดหน้าให้ข้าราชการตื่นตัวสักที และมั่นใจว่าวันนี้มาถูกที่ถูกทางแล้ว

หลักฐานที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย นำมามอบให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566

 

 

"ก่อนหน้านี้ สหพันธ์ได้ขอเข้าพบผู้บริหารกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาส่วยรถบรรทุก แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ข้อมูลเบาะแสรั่วไหล ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แถมยังโดนข่มขู่ มีการนำเบอร์โทรศัพท์มาให้เพื่อเคลียร์ค่าส่วยกับ "เจ้านาย" ถ้าไม่ทำตามจะถูกกดดัน และถูกตรวจค้น และหาข้อกล่าวหาที่ทำให้เราผิด" "นายอภิชาติ" กล่าว

 

 


"นายอภิชาติ" เล่าถึงวิธีการจำหน่าย "สติ๊กเกอร์ส่วย" ว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับล่าง อย่างนายสิบ นายดาบให้รถบรรทุกไปเคลียร์กับเจ้านาย ซึ่งไม่ทราบว่าเจ้านายเป็นใคร เมื่อบอกว่าเป็นรถบรรทุกที่มาจากสหพันธ์ จะไม่มีการเคลียร์ก็จะถูกกดันมาโดยตลอด ซึ่งรถ 1 คันก็จะหาความผิดได้หมดเลย เช่น ถูกออกในสั่งเรื่องติดไฟเพิ่ม ความเร็ว เป็นต้น 

 

 


"เราโดนกลั่งแกล้ง และวันนี้ที่กล้าออกมาพูดเพราะมีหลักฐาน วิธีการรีดไถ และวิธีการมอบสติ๊กเกอร์ทั้งหมด ซึ่งจะนำมอบให้กับนายวิโรจน์ ผมเฝ้ารอมา 20 ปี แล้ว" "นายอภิชาติ" กล่าว

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจแค่ไหนว่าจะเคลียร์ปัญหานี้ได้ทั้งขบวนการ "นายอภิชาติ" ตอบว่า ขึ้นอยู่กันคนที่จะมาทำงานวันนี้ว่ามีความตั้งใจจริงหรือไม่ เพราะในอดีตที่ผ่านมามีแต่คำหลอกลวง แต่ตอนนี้ "นายวิโรจน์" ได้ประชุมกับคณะสหพันธ์แล้ว และภายหลังการแถลงข่าวก็จะมีการตกผลึกในกระบวนการขนส่งของประเทศไทย ส่วนจะแก้ไขได้ทั้งระบบหรือไม่มองว่า ปัญหานี้มีความเรื้อรังยาวนานต้องใช้ระยะเงลาแต่อย่างน้อยก็มีจุดเริ่มต้น

 

 

 

"นายวิโรจน์" กล่าวต่อว่า เรื่อง "สติ๊กเกอร์ส่วย" ตอนนี้ทุกคนคงตั้งเป้าไปที่ตำรวจทางหลวง แต่นอกจากนี้ ยังมีตำรวจภูธร หรือตำรวจในพื้นที่ที่ดูแลการจราจรบางท่านยังมีการกระทำดังกล่าวอยูู่ ต้องยอมรับว่าเรายังต้องพูดถึงตำรวจภูธรอีก จากที่ประชุมพบว่าตำรวจทางหลวงบางท่านที่เป็นปัญหาก็ได้ยุติไปชั่วคราวแล้ว แต่ในบางพื้นที่ยังพบว่า มีตำรวจภูธรยังชะล่าใจและกระทำอยู่ "ตนขอบอกว่าเลิกเถอะ"

 

 

และในส่วนของสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ ที่มีส่วนเกี่ยวพันด้วยนั้น คงจะไปบอกว่าให้เปลี่ยนทั้งหมดหรือเป็นทุกคนคงไม่ได้ ต้องย้ำว่า "สติ๊กเกอร์ส่วย" เป็นที่ระบบ โดยคาดว่าความเสียหายอยู่ในระดับหมื่นล้าน เรื่องการทุจริตนี้ คิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของการทุจริตทั้งหมดในประเทศไทย

 


วาระสำคัญของการประชุม คือการสืบสาวราวเรื่องของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยเราจะรวบรวมและส่งข้อมูลไปให้กับสำนักงานจเรตำรวจ และ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) ที่ได้รับตำแหน่งรักษาการผู้บังคับการตำรวจทางหลวงในขณะนี้

 


"นายวิโรจน์" ยังกล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหา "สติ๊กเกอร์ส่วย" ยังคงมีเรื่องของกฎระเบียบจุกจิกที่ยังเป็นปัญหาอยู่ การทบทวนการแก้ไขข้อกฎหมายยังเป็นภาระหน้าที่ และการร่วมกันทำงานของพรรคก้าวไกล และสมาพันธ์ฯ คิดว่าคงต้องเอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างจริงจัง เพราะหากตัดปัญหาเรื่องที่ต้องใช้ดุลพินิจออกไป ปัญหาคอร์รัปชั่นก็จะหมดไปโดยปริยาย และเรื่องสุดท้ายคือเรื่องการยกเลิกการซื้อขายตำแหน่ง และระบบตั๋วของตำรวจ เขาเชื่อว่าถ้าสิ่งนี้หมดไป การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นก็จะยั่งยืน

 


"ผมให้ความมั่นใจว่าหลักฐานทุกอย่างจะส่งถึงมือจเรตำรวจ และ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ หลังจากนี้จะรวบรวมหลักฐาน เอกสารเข้าไปพบท่าน ผมดีใจมากที่ชื่อคนรักษาการเป็นท่านจรูญเกียรติ ท่านเป็นคนทำงาน" "นายวิโรจน์" กล่าวทิ้งท้าย