ข่าว

อัปเดตความรู้ 'โควิด19' รับมือการระบาดใหม่ หมอย้ำ ไม่ติดดีที่สุด

อัปเดตความรู้ 'โควิด19' รับมือการระบาดใหม่ หมอย้ำ ไม่ติดดีที่สุด

06 มิ.ย. 2566

'หมอธีระ' เปิดข้อมูลอัปเดตความรู้เกี่ยวกับ 'โควิด19' เพื่อรับมือการระบาดระลอกล่าสุด ย้ำชัด ไม่ติดเชื้อดีที่สุด

'หมอธีระ' รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เปิดเผยข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับ 'โควิด19' เพื่อรับมือกับการระบาดในครั้งนี้ ที่นับวันจะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งยังคงต้องป้องกันถึงแม้ยังไม่พบอัตราความรุนแรงมากก็ตาม

 

1. หากโรงพยาบาลไม่ตรวจคัดกรอง 'โควิด19' ในผู้ป่วยที่ต้องมานอนรักษาตัว จะทำให้มีอัตราการ ติดเชื้อโควิด ภายในโรงพยาบาลมากขึ้น ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ JAMA Internal Medicine เมื่อ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยเป็นข้อมูลที่ศึกษาในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ และสก็อตแลนด์)

 

การศึกษานี้ตอกย้ำให้โรงพยาบาลควรให้ความสำคัญต่อการตรวจคัดกรองในผู้ป่วยทุกรายที่เข้ารับการรักษาตัว เพื่อลดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยรอบข้าง และบุคลากรในโรงพยาบาล เพราะหากมีการติดเชื้อระหว่างนอนรักษาตัว จะส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตมากขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว หรือสถานะสุขภาพไม่ดีอยู่เดิม การติดเชื้อจะทำให้โรคต่างๆ รุนแรงขึ้น เกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นได้

 

 

2. วัคซีน ที่จำเพาะต่อสายพันธุ์ที่ระบาด จะเริ่มใช้ในช่วงฤดูใบไหม้ร่วงปีนี้ ข้อมูลจาก CTV News วันที่ 5 มิ.ย. 2566 รายงานว่า บริษัท Biontech ประเทศเยอรมัน ได้ให้ข่าวว่า 'วัคซีนโควิด' ที่จำเพาะต่อสายพันธุ์ XBB จะได้รับการผลิต และยื่นขอการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งน่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการขออนุมัติภายในช่วงปลายฤดูร้อน และเริ่มใช้ได้สำหรับประเทศในกลุ่มแถบเหนือของโลกในช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วง

 

3. การติดเชื้อหลายครั้ง เพศหญิง และสูงอายุ เสี่ยงต่อ Long COVID มากขึ้น งานวิจัยโดยทีมจากประเทศบราซิล ศึกษาในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 7,051 คน ตั้งแต่ปี 2020-2022 เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Infection Control & Hospital Epidemiology เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2566

 

  • อัตราความชุกของปัญหา Long COVID สูงราว 27%
  • การติดเชื้อซ้ำ (Reinfections) จะทำให้เสี่ยงต่อ Long COVID มากขึ้น 27%
  • เพศหญิงทำให้เสี่ยงมากขึ้นกว่าเพศชาย 21%
  • ภาวะสูงอายุจะทำให้เสี่ยงมากขึ้นเล็กน้อย 
  • หากฉีดวัคซีนครบเข็มกระตุ้น (ตั้งแต่ 4 เข็มขึ้นไป) จะลดความเสี่ยงได้กว่า 80%

 

 

สำหรับสถานการณ์ในไทย พบว่ามีการติดเชื้อกันมากในแต่ละวัน สถิติป่วย และเสียชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

 

  • เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี
  • ระวังการคลุกคลีใกล้ชิดโดยไม่ป้องกันตัว
  • ไม่ควรแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน
  • หากไม่สบาย ควรรีบตรวจรักษา แยกตัวจากคนอื่น 7-10 วันจนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ
  • การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก