ข่าว

'วัคซีนโควิด' อนาคตควรฉีดยังไง กลุ่มใดควรฉีด เปิดลักษณะการระบาดตอนนี้

'วัคซีนโควิด' อนาคตควรฉีดยังไง กลุ่มใดควรฉีด เปิดลักษณะการระบาดตอนนี้

08 มิ.ย. 2566

เปิดแถลงการณ์จากสหภาพยุโรป 'วัคซีนโควิด' ในอนาคตควรฉีดยังไง กลุ่มใดควรฉีดมากที่สุด 'หมอธีระ' เปิดลักษณะการระบาดตอนนี้เป็นแบบใด

'หมอธีระ' รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เปิดเผยข้อมูล แถลงการณ์จากสหภาพยุโรปเกี่ยวกับ 'วัคซีนโควิด' ทางหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการควบคุมโรค (European Center for Disease Prevention and Control: ECDC) และเรื่องนโยบายเกี่ยวกับเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลรักษาและป้องกันโรค (European Medicines Agency: EMA)

 

 

ซึ่งได้เผยแพร่แถลงการณ์เกี่ยวกับ 'วัคซีนโควิด' เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา สาระสำคัญนั้นสอดคล้องกับแถลงการณ์ของ องค์การอนามัยโลก ที่ออกมาก่อนหน้านี้

 

โดยระบุว่า 'วัคซีนโควิด' ที่จะใช้ในอนาคตจะปรับให้สอดคล้องกับสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ โดยแนะนำให้ปรับเป็น วัคซีน ที่จำเพาะต่อ สายพันธุ์ XBB (Monovalent vaccine) แม้วัคซีนรุ่นเดิมๆ ที่ใช้กันอยู่นั้นจะยังช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ แต่ข้อมูลวิชาการปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นนั้นจะลดลงไปเมื่อเวลาผ่านไป และลดลงไปเมื่อไวรัสมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ไปจากเดิม

 

 

ทั้งนี้การฉีดวัคซีนในอนาคตนั้น กลุ่มที่จำเป็นต้องฉีดเป็นอันดับต้นๆ คือกลุ่มเสี่ยง เช่น สูงอายุ มีโรคประจำตัว ตลอดจนผู้ที่มีอาชีพเสี่ยง อาทิ บุคลากรทางการแพทย์

 

 

นอกจากนี้ทาง EMA กำหนดให้ผู้ผลิต วัคซีน ที่จะจำหน่ายในอนาคตนั้น ต้องระบุรายละเอียดวิธีการฉีด ความถี่ในการฉีด ให้มีความชัดเจน เข้าใจได้ง่ายขึ้น ทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ โดยรายละเอียดที่ระบุนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลของวัคซีนชนิดนั้นๆ 

 

สำหรับการระบาด 'โควิด' ในกลุ่มประเทศเอเชีย (รวมไทยด้วย) ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีลักษณะเป็น ซุปสายพันธุ์ โดยส่วนใหญ่มีอย่างน้อย 3 สายพันธุ์ที่ครองสัดส่วนใกล้เคียงกัน มักเป็น XBB.1.16 XBB.1.9.x และ XBB.1.5 ยกเว้นบางประเทศที่มี CH.1.1 มาร่วมด้วยในสัดส่วนที่พอกัน

 

 

กลุ่มประเทศเหล่านี้แตกต่างจากอเมริกาและยุโรป ที่การระบาดที่ผ่านมานั้นมีสัดส่วนสายพันธุ์หลักที่ชัดเจนกว่า อย่างไรก็ตาม น่าจะมีความเป็นไปได้สูงที่สุดท้ายแล้วจะมีการระบาดที่มีลักษณะคล้ายกันทั่วโลก

 

 

ดังนั้นจึงมีการวิเคราะห์ว่าภาวะ ซุปสายพันธุ์ อาจทำให้มีแนวโน้มการติดเชื้อซ้ำได้มากกว่า จึงต้องเตือนให้ระวัง และมีพฤติกรรมป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยเรา ที่ตอนนี้ติดกันมากอย่างต่อเนื่องมานานถึงสองเดือนแล้ว