ข่าว

'หลักสูตร กอส.' เจ้าปัญหาบันไดส่งคนดัง ดารา นักธุรกิจ ติดยศสัญญาบัตร

'หลักสูตร กอส.' เจ้าปัญหาบันไดส่งคนดัง ดารา นักธุรกิจ ติดยศสัญญาบัตร

11 มิ.ย. 2566

ดร.กฤษณพงค์ ถอดบทเรียน 'หลักสูตร กอส.' หลักสูตรเจ้าปัญหาบันไดสู่ดาวส่งคนมีชื่อเสียง ดารา นักธุรกิจ ติดยศสัญญาบัตร

ประเด็นร้อนแรงในวงการตำรวจคงหนีไม่พ้นการเลื่อนยศของตำรวจหญิงคนนึง ที่ได้รับการแต่งตั้งแลื่อนยศเป็นผู้กองภายในเวลาเพียง 4 ปี เพราะเรียนหลักสูตร กอส. ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีคนดังจบหลายคน กรณีดังกล่าวทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยในตัวหลักสูตรอย่างมาก ว่ามีเกณฑ์อะไรทำไมผู้ที่ผ่านการอบรม "หลักสูตร กอส." จึงมีโอกาสเลื่อนยศไวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่น ๆ

 

 

ล่าสุด รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต  วิเคราะห์ กรณีการเลื่อนยศของ ผู้กองแคท ไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า

กรณีข้าราชการตำรวจหญิง หรือ ผู้กองแคท ที่ได้รับการเลื่อนยศในระยะเวลาที่รวดเร็วจาก ส.ต.ต.ไปเป็น ร.ต.อ.ในระยะเวลาเพียง 4 ปี จากที่เคยเป็นนักร้องลูกทุ่ง นางงาม เจ้าของบริษัท และเข้ารับราชการตำรวจได้เนื่องจากเป็นคุณวุฒิที่ขาดแคลนตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แจ้งว่าเป็นไปตามที่ต้นสังกัดเสนอ ถึงแม้ว่าต่อมาได้มีการแจ้งให้ทราบว่าการเลื่อนชั้นยศดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเลื่อนยศทุกประการเนื่องจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท

เรื่องนี้กลายเป็น กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม คงมิใช่เพียงแต่ว่าเป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์หรือไม่ แต่ผู้กองแคทมักมีการโพสต์ภาพ คลิป ปรากฏทางโลกออนไลน์ในรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากตำรวจอีกหลายนายซึ่งตำรวจเหล่านั้นทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในการสืบสวน จับกุมคนร้าย ตำรวจเหล่านั้นมิได้ทำเพียงเพราะ อาชีพตำรวจ แต่เชื่อแน่ว่าทำด้วยหัวใจของความเป็น ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เฉกเช่นดังรุ่นน้อง รุ่นพี่ เพื่อนๆ ข้าราชการตำรวจหลายนายที่สละได้แม้กระทั่งชีวิตเพื่อความผาสุขของประชาชน แต่ความก้าวหน้าในการรับราชการตำรวจดูเหมือนไม่รวดเร็วดังเช่นกรณีนี้โดยเฉพาะตำรวจชั้นประทวนถึงแม้จะมีคุณวุฒิ ป.โท ป.เอก

 

 

ทั้งนี้ดร. กฤษณะพงค์ เคยสมัครใจเป็นอาจารย์ สอนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เคยสอน "หลักสูตร กอส." หลายรุ่น หลายคนมีความตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ขยัน มีความรับผิดชอบ เพียงแต่อาจเป็นคำถามของสังคมถึงที่มาของผู้เข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรดังกล่าว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละคนมีหนทางที่จะเข้ามาอบรมแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้อนุมัติ ให้เข้ามาศึกษาต่อได้ มีหลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปตำรวจที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญใน การคัดเลือกคนมาเป็นตำรวจ

 

 

นอกจากนี้ หากผู้ที่สามารถเข้ามาอบรมใน "หลักสูตร กอส." และผ่านการฝึกอบรมบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรแล้ว ยังไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงบทบาท หน้าที่ของความเป็นตำรวจ เราก็จะเห็นข้าราชการตำรวจในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้ง ตำรวจนางงาม ตำรวจนายบ่อน ตำรวจดารา และ ตำรวจนักธุรกิจ เป็นต้น

 

 

เชื่อว่าเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ข้าราชการตำรวจ (บางนาย) คงไม่ใช่ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ตราบใดที่สังคมไทยยังมองว่าอาชีพนี้คืออาชีพที่เสริม บารมีและอำนาจ สุดท้ายผลกรรมจะตกอยู่กับประชาชนเพราะเราจะไม่ได้ตำรวจอาชีพ แต่จะได้คนที่เลือกอาชีพตำรวจ เพียงเพื่อสนองความต้องการมีบารมี และอำนาจ