ข่าว

'กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ' จาก วัคซีนโควิด ล่าสุด พบในเพศ-อายุใด มากสุด

'กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ' จาก วัคซีนโควิด ล่าสุด พบในเพศ-อายุใด มากสุด

12 มิ.ย. 2566

'หมอดื้อ' เปิดข้อมูลรายงานล่าสุด 'กล้ามเนื้ออักหัวใจอักเสบ' จาก 'วัคซีนโควิด' เปิด 5 ประการ ความเสี่ยงในการเกิดมากน้อยแค่ไหน พบในช่วงอายุ เพศใดมากสุด

'หมอดื้อ' ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เปิดเผยข้อมูลรายงานเกี่ยวกับ 'กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ' ที่เกิดจาก 'วัคซีนโควิด' โดยเป็นรายงานที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร European heart journal ของสมาคมโรคหัวใจของยุโรป (European society of cardiology) ใน เดือนพฤษภาคม ปี 2023

 

'กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ' ที่ทำให้เกิดหัวใจวาย จนกระทั่งเสียชีวิตกระทันหัน (sudden cardiac death) เป็นสิ่งที่ได้รับทราบกันมาตลอดตั้งแต่เริ่มมีการใช้ 'วัคซีนโควิด' อุบัติการที่เกิดขึ้นจะมีขนาดตั้งแต่ 1.4 ถึง ห้าราย ต่อคนที่ ฉีดวัคซีน 100,000 คน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับขั้นตอนและกระบวนการศึกษาโดยที่มีการรายงานในการติดตาม ระยะสั้นว่า อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายเองได้ หรือได้รับการรักษาไม่นาน แต่หลังจากนั้นมีรายงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงผลกระทบหรือผลข้างเคียงของ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ที่รุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิต

 

 

หน่วยงาน ควบคุมและป้องกันโรคของรัฐบาลประเทศเกาหลี จึงได้เล็งเห็นความสำคัญถึงความปลอดภัยในการใช้ 'วัคซีนโควิด' โดยมีช่องทางการรายงานทั่วประเทศและขณะเดียวกันมีการประเมินอย่างเข้มข้นโดยมี กรรมการที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญ และจนกระทั่งมีการชัณสูตรศพ ผู้ที่เสียชีวิตกระทันหันหรือฉับพลันหลังจากได้รับวัคซีนและสามารถสรุปได้ว่าเกิดจากวัคซีนโดยตรง

 

ในประชากรทั้งหมด 44,276,704 ราย อายุมากกว่า 12 ปี ที่ได้รับ 'วัคซีนโควิด' อย่างน้อยหนึ่งเข็ม จนกระทั่งถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 มีรายงานจนกระทั่งถึงวันที่ 31 พ.ค. 2565 ว่าอาจเป็นไปได้ที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนเป็นจำนวน 1,533 ราย ในจำนวนนี้ได้ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและสามารถสรุปได้ชัดเจนว่า เกิดจากวัคซีน เป็นจำนวน 480 ราย ดังนั้น อุบัติการของ 'กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ' ในประเทศเกาหลีจะอยู่ที่ 1.08 รายต่อผู้ที่ฉีดวัคซีน 100,000 ราย

 

  • มีอาการรุนแรง 95 รายคิดเป็น 19.8% 
  • ต้องได้รับการรักษาในห้องผู้ป่วยอาการหนักไอซียูเป็นจำนวน 85 ราย ( 17.7% )
  • เป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอย่างรุนแรง (fulminant myocarditis) 36 ราย คิดเป็นจำนวน 7.5% 
  • ต้องได้รับการพยุงประคองช่วยชีวิตด้วยเครื่อง ECMO หรือ extracorporeal membrane oxygenation เป็นจำนวน 21 ราย ( 4.4%)
  • มีผู้เสียชีวิต 21 ราย ( 4.4%)
  • ผู้เสียชีวิตอย่างเฉียบพลันกระทันหันที่เกิดขึ้นจากวัคซีนโควิดและพิสูจน์ได้ชัดเจนจากการตรวจสอบและตรวจชิ้นเนื้อเยื่อมีจำนวน 8 ราย ( 1.7%)
  • มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการเปลี่ยนหัวใจเป็นจำนวน 1 ราย (0.2%)

 

 

ระยะเวลาหลังจากที่ได้รับวัคซีน จนกระทั่งเกิดอาการ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อยู่ที่ 42 วัน ตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ทั้งนี้เพื่อให้การวินิจฉัยตรงไปตรงมาและมีความคาดเคลื่อนน้อยที่สุดโดยอิงตาม Brighton Collaboration (BC. Myocarditis/pericarditis case definition. The task force for global health, 16 July 2021. และเสริมเติม กฎเกณฑ์มากขึ้นเพื่อไม่ให้ข้อมูลผิดพลาด  ทั้งนี้ ยังได้ตัดรายที่มีการติดเชื้อโควิดและที่การตรวจเลือดไม่พบหลักฐานของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และนอกจากนั้น ยังได้ทำการตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุอื่นของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบซึ่งรวมถึงการติดเชื้อไวรัสและภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวนที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้

 

 

กล้ามเนื้ออักเสบกับวัคซีน

 


หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคของรัฐบาลประเทศเกาหลี ได้สรุปข้อมูลที่ได้ดังต่อไปนี้ก็คือ

 

ประการที่หนึ่ง การเกิด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จาก วัคซีนโควิด ไม่ได้พบบ่อย กล่าวคือ 1.08 รายต่อคนที่ฉีดวัคซีน 100,000 คน และส่วนมากแล้วเกิดกับ วัคซีน mRNA โดยเฉพาะในผู้ชายอายุน้อย ที่มีอายุระหว่าง 12 ถึง 17 ปีตามด้วยผู้ชายที่อายุระหว่าง 18 ถึง 29 ปีและพบได้น้อยสุดในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 70 ปี

 

ประการที่สอง เมื่อทำการวิเคราะห์อุบัติการที่เกิดขึ้นจะพบว่า

  • เกิดหลังวัคซีนเข็มแรก 0.47 รายต่อ 100,000 คน
  • เกิดหลังวัคซีนเข็มที่สอง 0.55 รายต่อ 100,000 คน
  • เกิดหลังวัคซีนเข็มที่สาม 0.4 รายต่อ 100,000 คน

 

ทำให้สามารถสรุปได้ว่าอุบัติการของ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ นั้น จะไม่แตกต่างกันมากหลังฉีดเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สอง แต่เมื่อฉีดไปสามเข็มอุบัติการจะลดลงกว่าที่ฉีดเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สอง

 

ประการที่สาม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังเข็มที่หนึ่งจะพบไม่แตกต่างกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย แต่หลังเข็มที่สองจะพบในผู้ชายมากกว่า

 

ประการที่สี่ ในประเทศเกาหลีนั้นมีสูตรการฉีดไขว้สองแบบเท่านั้น กล่าวคือ เข็มแรกแอสตราต่อด้วยไฟเซอร์ หรือไม่ก็ โมเดอร์น่าต่อด้วยไฟเซอร์ ทั้งนี้ไม่พบรายงานกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบด้วยโมเดน่าต่อด้วยไฟเซอร์ อย่างไรก็ตาม มี 8 รายจาก 1,789,915 คนที่ได้รับแอสตร้าและต่อด้วยไฟเซอร์ คิดเป็น 0.45 รายต่อ 100,000 คนที่ได้รับวัคซีน

 

ประการที่ห้า ถึงแม้ว่าโดยรวมการเกิดหัวใจอักเสบจะดูน้อยมาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะพบว่ามีความรุนแรงหรือเสียชีวิตได้สูงถึง 19.8% 

 

 

ทั้งนี้โดยรวมถึงการที่เสียชีวิตเฉียบพลัน หัวใจหยุดเต้น ซึ่งต้องมีการเฝ้าติดตามระมัดระวังและมีการเตือน ถึงการเสียชีวิตเฉียบพลันว่าเกิดขึ้นได้จาก 'วัคซีนโควิด' โดยเฉพาะในคนที่อายุน้อยกว่า 45 ปีที่ได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ

 

 

หน่วยงานของประเทศเกาหลีได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง ของรายงานที่ผ่านมา ในนานาประเทศว่า อาจจะเกิดขึ้นจากชนิดของ วัคซีน ที่ต่างกันแม้กระทั่งเชื้อชาติหรือไม่

 

 

แต่จุดแข็งของรายงานจากรัฐบาลเกาหลีนี้ ไม่เหมือนเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นการรายงาน แบบย้อนหลัง ทั้งนี้โดยที่รัฐบาลเกาหลีนั้นได้สร้างระบบการรายงานผลข้างเคียงของการใช้ 'วัคซีนโควิด' ตั้งแต่เริ่มก่อนที่จะมีการ ฉีดวัคซีน และสร้างระบบในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยถือว่าผลข้างเคียงของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นเรื่องที่รุนแรงมาก และการรายงานต้องฉับพลันเที่ยงตรงและลดการรายงานที่ผิดพลาดน้อยหรือมากเกินจริง

 

 

นอกจากนั้นรัฐบาลของเกาหลีนั้น ยังได้ให้ความสำคัญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความแม่นยำในการวินิจฉัย โดยมีการตรวจชิ้นเนื้อที่ได้จากการตัดชิ้นเล็กๆ ของ กล้ามเนื้อหัวใจ จากผู้ป่วยที่มีอาการ เข้าได้กับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพื่อเป็นการยืนยันการวินิจฉัยและตัดสาเหตุอื่นออกและควบรวมกับการตรวจเอคโค่ (echocardiogram ) จนกระทั่งถึงการตรวจเอ็มอาร์ไอ และการตรวจเลือด cardiac Troponin ที่ต้องมีหลักฐานประกอบด้วย โดยเฉพาะ ในกรณีที่บางรายไม่มีการตรวจเอ็มอาร์ไอ หรือขาดข้อมูลทางเอคโค่แต่ทุกรายนั้นต้องมีอาการที่เข้าได้และตัดสาเหตุอย่างอื่นออกทั้งหมด

 

 

รายงานนี้ รัฐบาลเกาหลีหน่วยงานป้องกันและควบคุมโรค ได้กล่าวย้ำให้มีการติดตามอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลกระทบจาก 'วัคซีนโควิด' ที่เดิมอาจจะดูเหมือนไม่รุนแรงมาก แต่เมื่อมีการติดตามอย่างละเอียด จะมีผลกระทบถึงเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะคนที่อายุน้อยกว่า 45 ปีและได้รับ วัคซีน mRNA

 

 

สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก วัคซีน ในประเทศไทยที่คณะทำงานของเรา ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่และสาขาประสาทวิทยาคณะแพทยศาสตร์จุฬา ได้มีการติดตาม พบว่ามีทั้งที่ต้องเปลี่ยนหัวใจ หลังได้รับ วัคซีนชิโนฟาร์ม และมีสมองอักเสบตามมา และมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอย่างรุนแรงหลังจากได้รับ วัคซีนไฟเซอร์ รวมทั้งมีกล้ามเนื้อแขนขาอักเสบเป็นอัมพาต นอกจากนั้น มีผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนชนิดต่างๆทางสมองทางเส้นประสาทและมีเส้นเลือดดำอุดตัน 

 

 

โดยที่ทุกคนยอมรับว่าวัคซีนมีประโยชน์ แต่การ ติดตามความปลอดภัยถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดเช่นกัน เพราะวัคซีนเป็นการให้เพื่อป้องกันโรคและช่วยชีวิต และการฉีดวัคซีนต้องคำนึงถึงสถานการณ์ความรุนแรงของโควิด ณ เวลานั้นๆ ด้วย