'พลายศักดิ์สุรินทร์' อยากกลับไทยแล้ว ซ้อมเข้ากรงให้ความร่วมมืออย่างดี
"พลายศักดิ์สุรินทร์" ซ้อมเข้ากรง เตรียมกลับไทย หลังเป็นช้างทูตสันถวไมตรี ที่ศรีลังกานานกว่า 21 ปี แต่เลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมจนบาดเจ็บ รัฐบาลไทยเป็นห่วงขอทวงคืนนำกลับมาดูแลต่อ
พลายศักดิสุรินทร์ (Muthu Raja) ช้างทูตสันถวไมตรี ที่รัฐบาลไทยมอบให้รัฐบาลศรีลังกา ตั้งแต่ปี 2544 เพื่อฝึกไว้เชิญพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการแห่พระธาตุประจำปีของ ประเทศศรีลังกา ซึ่งอยู่ในการดูแลของวัด Kande Vihara กระทั่งเดือน พ.ค. 2565 กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับแจ้งจากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ว่า พลายศักดิ์สุรินทร์ ถูกใช้แรงงานค่อนข้างหนัก ส่งผลให้ขาหน้าด้านซ้ายผิดปกติ งอขาไม่ได้ และมีฝีหนองที่สะโพกด้านขวา และซ้าย ซึ่งพบว่ามีอาการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้พลายศักดิ์สุรินทร์ มีอาการเซื่องซึม เครียด ตกมันได้ง่าย ผู้ดูแลจึงล่ามโซ่ ไว้ตลอด
ทางคณะสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญไทย จากกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จึงได้เดินทางไปตรวจสุขภาพและความเป็นอยู่ของพลายศักดิ์สุรินทร์ และเห็นควรว่าควรให้พลายศักดิ์สุรินทร์ หยุดการทำงานและส่งตัวกลับมารักษาอาการป่วยที่ประเทศไทย และนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา พลายศักดิ์สุรินทร์ ถูกนำตัวไปรักษาและฟื้นฟูสุขภาพเบื้องต้น โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญไทยและศรีลังกาให้การดูแล
อย่างไรก็ตาม การนำ พลายศักดิ์สุรินทร์ อายุ 30 ปี น้ำหนักประมาณ 3.5 ตัน งาโค้งยาวเกือบ 1 เมตร เดินทางกลับประเทศไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย จะมีการส่งกลับโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำขนาดใหญ่ โดยมีการจัดทำกรงขนาดพิเศษ และขนส่งไปให้ พลายศักดิ์สุรินทร์ ได้มีการซักซ้อมเข้าไปอยู่ในกรง ซึ่งกรงของพลายศักดิ์สุรินทร์ ก็ได้ถูกจัดส่งไปที่ประเทศศรีลังกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยก่อนที่จะถึงกำหนดการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ กลับประเทศไทย ควาญช้างและผู้เชี่ยวชาญ ได้ทำความคุ้นเคยและฝึกให้พลายศักดิ์สุรินทร์ เดินเข้ากรง ซึ่งผ่านพ้นไปด้วยดี ไม่มีการตื่นกลัว
โดยล่าสุด เฟซบุ๊ก Top Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้อัปเดตข้อมูลการนำตัว พลายศักดิ์สุรินทร์ กลับไทยว่า
สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังควาญช้างได้ฝึกฝนให้พลายศักดิ์สุรินทร์….เข้ากรง ล่าสุด (วันที่ 18 มิถุนายน 2566) น้องพลายฯ ของเราสามารถอยู่ในกรงได้นานขึ้นได้ประมาณ 2 ชม. ทั้งที่มีการล่ามโซ่ขาหลังสองข้างกับขอเกี่ยวภายในกรง และล่ามโซ่ขาหน้ากับต้นไม้ด้านนอกกรง
รวมถึงมีการปิดประตูทั้ง 2 ด้าน ทั้งข้างหน้า และข้างหลัง ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมคล้ายกับการขนส่งช้างบนเครื่องบิน ซึ่งน้องไม่มีอาการตกใจ และสามารถกินอาหารได้ตามปกติ
นอกจากนี้ยังมีการทดลองสร้างเสียงดัง…ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อกังวลอย่างมาก แต่เมื่อทดสอบโดยการเคาะกรงช้าง เพื่อให้คล้ายคลึงกับช่วงเดินทางบนเครื่องบิน ซึ่งอาจมีเสียงดังจากเครื่องยนต์ไอพ่น…ก็ไม่มีปฏิกิริยาตื่นตกใจแต่อย่างใดครับ
และเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ควาญช้างผู้ช่วยอีก 2 คน จากสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ เดินทางมาถึงประเทศศรีลังกา เพื่อร่วมช่วยการฝึกเตรียมช้าง
โดยในวันที่ 29 มิ.ย. - 1 ก.ค. นี้ จะฝึกซ้อมซ้ำๆ ให้ช้างอยู่กรงเป็นระยะๆ ในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อสร้างความเคยชินการอยู่ในกรงให้มากที่สุด
โดยในวันที่ 2 ก.ค. 2566 ช่วงเวลาประมาณตี 2 จะเริ่มเคลื่อนย้ายช้างจากสวนสัตว์ไปยังสนามบินโคลัมโบ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2-3 ชม เพื่อเตรียมโหลดช้างเข้าเครื่องบิน โดยตามกำหนดการเครื่องบินออกเดินทางประมาณ 07.30 น. ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง
ขอบคุณภาพและข้อมูล
เพจเฟซบุ๊ก NuNa Silpa-archa / TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา