เปิดข้อกฎหมาย ผัวมีเมียน้อยฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ทั้งผัวและเมียน้อย?
ภรรยา "หนุ่ม กะลา" เตรียมฟ้องเมียน้อย 10 ล้านบาท โซเชียลตั้งคำถาม ฟ้อง "หนุ่ม กะลา" ด้วยได้หรือไม่ เพราะหากเป็นเรื่องจริงสามีก็มีส่วนผิด วันนี้ "คมชัดลึก" สัมภาษณ์ "ทนาย" เพื่อไขข้อสงสัยเรื่องกฎหมาย ฟังคำตอบแล้วทำเอาคนที่กำลังจะฟ้องชู้ยิ้มอ่อนรอคำพิพากษาเลยทีเดียว
"วีรศักดิ์ โชติวานิช" รองโฆษกสภาทนายความ อธิบายข้อกฎหมายกรณีนักร้องดังยุค 90 "หนุ่ม กะลา" ตกเป็นเป้าโยงซุกเมียน้อย ซึ่งหากเป็นความจริง และมีการฟ้องร้อง กรณีนี้อาจเข้าข้อกฎหมายคดีแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 1523 การฟ้องบุคคลที่เป็นชู้กับสามีหรือภรรยา อีกฝ่ายมีสิทธิได้รับค่าทดแทน เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากัน เพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภรรยา และจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น
การฟ้องหญิงชู้ ชายชู้ เรียกค่าเสียหาย ค่าทดแทน กฎหมายระบุไว้ว่า "ชู้" หมายถึง ชายที่ร่วมประเวณีด้วยเมียเขา เรียกว่า "เป็นชู้" หญิงที่ยังมีสามีอยู่แล้ว ร่วมประเวณีกับชายอื่น เรียกว่า "มีชู้" และเรียกชายหรือหญิงที่ใฝ่ในทางชู้สาวว่า "เจ้าชู้"
สามีจะเรียกคำทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภรรยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภรรยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
ถ้าสามีหรือภรรยายินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภรรยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้
มาตรา 1529 สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา 1516 (1) (2) (3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้างเหตุอันจะยกขึ้นฟ้องหย่าไม่ได้แล้วนั้น อาจนำสืบสนับสนุนคดีฟ้องหย่าซึ่งอาศัยเหตุอย่างอื่น
ทั้งนี้ การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง เป็นการเรียกได้จากคู่สมรสอีกฝ่าย และจากหญิงชู้หรือชายชู้ จึงมีเงื่อนไขว่าต้องมีคำพิพากษาให้หย่ากันก่อน กล่าวคือ ต้องฟ้องหย่าด้วยในคดีเดียวกัน แต่ถ้าเป็นกรณีเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินหรือมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวตามมาตรา 1523 วรรคสอง สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ทันที โดยไม่จำต้องฟ้องหย่าหรือหย่าขาดจากคู่สมรสเสียก่อน
"ยกตัวอย่าง หากสามีมีเมียน้อย ต้องดูพฤติกรรมว่า เลี้ยงดูปูเสื่อ ให้เงินใช้ไหม มีพฤติกรรมต่อเนื่องหรือไม่ หากมีภรรยาสามารถฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนจาก "เมียน้อย" ได้ แต่ไม่สามารถเรียกค่าทดแทนกับสามีตัวเองได้ ยกเว้นกรณีฟ้องหย่าแล้ว ภรรยาสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนได้อีก ฟ้องคู่กันทั้งหย่าและค่าทดแทนไปเลย สรุปฟ้องเรียกค่าทดแทนกับเมียน้อย แล้วฟ้องหย่าสามีและเรียกค่าทดแทนจากสามีอีก" "ทนายวีรศักดิ์" อธิบาย
- ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ ประเด็นไม่จำเป็นต้องฟ้องหย่าด้วย ก็ฟ้องชู้ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2538 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตลอดมา จนถึงวันฟ้องลักษณะการกระทำของจำเลยได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุด การกระทำละเมิดของจำเลยได้เกิดขึ้น และมีอยู่ในขณะฟ้องคดี โจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยที่ว่า การฟ้องเรียกค่าทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 จะต้องฟ้องหย่าเสียก่อนจึงจะเรียกค่าทดแทนได้นั้น เป็นฎีกาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้
การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่า ตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ไม่มีเงื่อนไขว่าภรรยาต้องฟ้องหย่าสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงนั้นได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
- อายุความฟ้องหย่า
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 "สิทธิฟ้องร้อง โดยอาศัยเหตุ ในมาตรา 1516 (1) (2) (3) หรือ (6) หรือ มาตรา 1523 ย่อมระงับไปเมื่อพันกำหนด 1 ปีนับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้างเหตุอันจะยกขึ้นฟ้องหย่าไม่ได้แล้วนั้น อาจนำสืบสนับสนุนคดีฟ้องหย่าซึ่งอาศัยเหตุอย่างอื่น"
โดยในการ "ฟ้องหย่า" หรือฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายชู้หรือภรรยาน้อย มาตรา 1529 กำหนดอายุความไว้สั้นๆ เพียง 1 ปี นับแต่วันที่คู่สมรสฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้รู้หรือควรจะรู้ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นกล่าวอ้าง และอายุความ 1 ปีนั้น มีเฉพาะเหตุหย่าบางเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นข่าวคราวไป เช่น ภรรยามีผู้ซึ่งเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) สามีก็จะต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปีนับแต่ว้นที่รู้หรือควรจะรู้ถึงการมีชู้ มิฉะนั้นถือว่าคดีขาดอายุความ แต่ถ้าเหตุนั้นเป็นเหตุต่อเนื่อง เช่น เหตุฟ้องหย่า ตามมาตรา 1516 (4) เหตุดังกล่าวนี้ถือว่า ไม่มีอายุความ
ดังนั้น สถานภาพดังกล่าวยังคงมีอยู่ก็สามารถฟ้องหย่าได้ สำหรับเหตุหย่าเพราะผิดทัณฑ์บนนั้น กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี นอกจากนี้ อายุความฟ้องหย่า 1 ปี นับแต่ที่อีกฝ่ายรู้หรือควรรู้ถึงเหตุหย่า จำเลยจะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แม้ฟ้องคดีของโจทก์นั้นจะขาดอายุความแล้ว แต่หากจำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความศาลจะอ้างเหตุอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 454/2533 ภรรยามีชู้มาก่อน แต่เมื่อสามีเพิ่งทราบยังไม่ถึงกำหนด 1 ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาฎีกาที่ 4261/2545 สามีมีภรรยาน้อย แต่เหตุต่อเนื่องจนถึงวันฟ้อง ดังนั้น แม้รู้เหตุเกิน 1 ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาฎีกาที่ 5664/2551 เหตุฟ้องหย่าอ้างกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา อย่างร้ายแรงเมื่อฟ้องคดีเกิน 1 ปี คดีก็ขาดอายุความ
คำพิพากษาฎีกาที่ 6804/2558 ภรรยามีชู้ แต่เป็นเหตุต่อเนื่อง คดีจึงไม่ขาดอายุความ