‘ใบสั่งออนไลน์’ ของจริง-ของปลอม ดูยังไง แนะวิธีตรวจสอบจะได้ไม่โดนหลอก
‘ใบสั่งจราจรออนไลน์’ ตรวจสอบยังไงระหว่างของจริงกับของปลอม แนะวิธีตรวจสอบผ่านระบบ PTM จะได้ไม่หลงกลมิจฉาชีพ
‘ใบสั่งจราจรออนไลน์ปลอม’ กำลังระบาด หลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) พบว่า มีมิจฉาชีพหัวใส แอบอ้างเป็นส่วนราชการหลอกลวงประชาชนในรูปแบบการแอบอ้างเรื่องการชำระค่าปรับต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือใบสั่งจราจร ที่ออกโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีประชาชนหลงเชื่อและยอมโอนเงินจ่ายให้กับมิจฉาชีพ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมุ่งหวังให้บริการของภาครัฐสะดวก รวดเร็ว อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกกฎหมายผลักดันรัฐบาลดิจิทัล
พร้อมจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ตลอดจนมอบหมายให้หน่วยงานรัฐพัฒนาแอปฯ และบริการออนไลน์จำนวนมากเพื่อพัฒนาภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล ทั้งนี้ หน่วยงานราชการหลาย ๆ หน่วยงานได้สานต่อนโยบาย พัฒนารูปแบบการให้บริการแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน
นางสาวรัชดา กล่าวว่า เพื่อให้รู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แนะวิธีสังเกตใบสั่งจราจรอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดส่งทางไปรษณีย์ไปยังเจ้าของรถถึงบ้าน ว่าฉบับไหนเป็นของจริง-ของปลอม
วิธีดูใบสั่งจราจรของจริง
- การออกใบสั่งจราจรอิเล็กทรอนิกส์ครั้งแรก จะมีรูปถ่ายรถ หมายเลขทะเบียนรถ และข้อหากระทำความผิดครบ หากไม่จ่ายค่าปรับใน 7 วัน จะมีใบเตือน
- การออกครั้งที่สองนั้น เป็นใบเตือนให้ชำระค่าปรับใบสั่ง
- ในเอกสารครั้งที่สองนี้ จะไม่มีรูปถ่ายรถประกอบ แต่จะมีแค่ QR code บอกวิธีการชำระเงิน และมีลายเซ็นนายตำรวจระดับสารวัตรขึ้นไปเซ็นประกอบ ยืนยันว่าเป็นเอกสารทางราชการจริง
- การออกใบสั่งจราจรอิเล็กทรอนิกส์จะต้องมีการลงระบบ PTM ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชน
วิธีตรวจสอบใบสั่งจราจรผ่านระบบ PTM
- ผู้ได้รับใบสั่งจราจรสามารถตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นใบสั่งจริง โดยนำเลขที่ใบสั่ง ไปตรวจสอบได้ที่ https://ptm.police.go.th/eTicket >>คลิก<<
- จุดสังเกตที่สำคัญ คือ บัญชีธนาคารปลายทางที่จะรับเงิน ต้องเป็นบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ - ค่าปรับจราจร” เท่านั้น ( ถ้าเป็นชื่อบัญชีส่วนบุคคลให้สงสัยว่าเป็นใบสั่งปลอม )
ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล