ข่าว

'เงินชดเชยเลิกจ้าง' ประกันสังคม ได้เท่าไร เช็กวิธีคำนวณ แบบง่ายๆ

'เงินชดเชยเลิกจ้าง' ประกันสังคม ได้เท่าไร เช็กวิธีคำนวณ แบบง่ายๆ

02 ก.พ. 2567

'ผู้ประกันตน' ควรรู้ 'เงินชดเชยเลิกจ้าง' ประกันสังคม หากถูก เลิกจ้าง โดยไม่มีความผิด ได้เท่าไร เปิดวิธีคำนวณแบบละเอียด

การถูกเลิกจ้าง กลายเป็นคนตกงาน ทั้งที่มีความผิด หรือ ไม่มีความผิด ล้วนไม่มีใครอยากเจอ แต่ก็พบได้เป็นเรื่องปกติ ในสังคมการทำงาน โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หลายธุรกิจไปต่อไม่ไหว จำเป็นต้องปลดพนักงาน แต่สิ่งที่หลายคนควรรู้คือ เมื่อถูกเลิกจ้าง โดยไม่มีความผิด จะต้องได้ “เงินชดเชยเลิกจ้าง”

 

 

 

 

“เงินชดเชยเลิกจ้าง” เป็นไปตามสิทธิของ “ประกันสังคม” ที่ลูกจ้างพึงได้รับ หากเข้าเกณฑ์เป็นการเลิกจ้าง โดยไม่ได้ลาออกเอง ซึ่งเป็นผลมาจากการตัดสินใจของนายจ้าง และ เราไม่ได้ทำผิด หรือ มีปัญหากับบริษัทต้นสังกัด..แล้วเมื่อถูกเลิกจ้าง เราจะได้รับเงินชดเชยเท่าไร ทำงานไม่ถึง 1 ปี จะได้รับหรือเงินชดเชยหรือไม่ คมชัดลึก รวบรวมคำตอบมาให้แล้ว

 

อัตราการจ่าย เงินชดเชยเลิกจ้าง

 

 

  • ทำงานครบ 120 วัน     แต่ไม่ครบ 1  ปี    จ่าย 30  วัน
  • ทำงานครบ 1 ปี           แต่ไม่ครบ 3  ปี    จ่าย 90 วัน
  • ทำงานครบ 3 ปี           แต่ไม่ครบ 6   ปี    จ่าย 180 วัน
  • ทำงานครบ 6  ปี          แต่ไม่ครบ 10 ปี    จ่าย 240 วัน
  • ทำงานครบ 10 ปี         แต่ไม่ครบ 20  ปี   จ่าย 300 วัน
  • ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป                           จ่าย 400 วัน

 

 

วิธีคำนวณ เงินชดเชยเลิกจ้าง

 

 

  • นำ “ค่าจ้าง” มาหาร 30 วัน เพื่อให้ได้ค่าจ้างรายวัน
  • เมื่อได้ค่าจ้างรายวันแล้ว ก็ดูว่าทำงานมานานเท่าไร จะได้ค่าชดเชยอัตราใด  แล้วจึงนำค่าจ้างรายวัน คูณกับอัตราค่าชดเชยที่ได้รับ

 

ยกตัวอย่างวิธีคำนวณ

 

นาย ก. ทำงานมา 5 ปี ได้ค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท หากถูกเลิกจ้างจะได้ค่าชดเชยกี่บาท ต้องคำนวณดังนี้

 

  • เอาค่าจ้าง หาร 30       = 30,000÷ 30
  • จะได้ค่าจ้างรายวัน       = 1,000
  • ทำงาน 5 ปี
  • ได้ค่าชดเชย 180 วัน
  • เอามาคูณกับค่าจ้างที่ได้ต่อวัน                     = 1,000 ×180
  • ค่าชดเชยที่ได้            = 180,000 บาท

 

หมายเหตุ

 

  1. เงินชดเชยเลิกจ้าง ต้องจ่ายช้าสุดคือในวันที่ถูกเลิกจ้าง หากนายจ้างไม่จ่ายอาจต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีอีกด้วย
  2. หากลูกจ้างตั้งประเด็นไปว่า นายจ้าง “จงใจ” ไม่จ่าย ก็อาจต้องรับผิดใน ”เงินเพิ่ม” ร้อยละ 15 ทุกๆ 7 วันอีกด้วย
  3. ทำไมต้องเอาค่าจ้างมาหาร 30  ตัวเลข 30 คือ “เดือน” ในทางกฎหมายแรงงานถือว่า เดือนหนึ่งมี 30 วันเสมอ ในการหาค่าจ้างรายวัน ไม่ต้องคำนึงว่าเดือนที่คำนวณมีกี่วัน กฎหมายแรงงานให้ถือว่าทุกเดือนมี 30 วันทั้งหมด

 

 

เงื่อนไขไม่ได้รับ “เงินชดเชยเลิกจ้าง”

 

  • ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
  • จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
  • ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีร้ายแรง
  • ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
  • ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  • ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
  • ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ

 

 

กรณี ลาออกเอง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา

 

ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงาน ปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท

 

 

 

ทั้งนี้ ลูกจ้างต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน ที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิในเบื้องต้น เพื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคมในบางอย่าง เช่น มีความสามารถในการทำงาน และพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้ และ ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน และ ต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง

 

 

 

 

ที่มา : กฎหมายแรงงาน