'ทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง' ดูดขา ไม่ใช่ครั้งแรก ผู้โดยสาร เล่านาทีระทึก
อุบัติเหตุ 'ทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง' ดูดขาขาด ไม่ใช่ครั้งแรก ผู้โดยสาร เล่านาทีระทึก เมื่อปี 2562 เช็กวิธีใช้ 'บันไดเลื่อน-ทางเลื่อน' ให้ปลอดภัย
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบน “ทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง” ทำให้ผู้โดยสารหญิง ซึ่งกำลังจะเดินทางไปยัง จ.นครศรีธรรมราช โดนบันไดเลื่อนดูด จนขาซ้ายขาด โดยผู้บริหารท่าอากาศยานดอนเมือง ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ และสั่งการหาสาเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมปิดการใช้ทางเลื่อนนี้เป็นการชั่วคราว และเร่งนำทีมวิศวกรเข้าสำรวจหาสาเหตุโดยละเอียด และตรวจสอบความปลอดภัยอีกครั้ง
เหตุการณ์ในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2562 บน “ทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง” แต่ครั้งนั้น โชคดีที่ไม่มีใครได้รับอันตรายอะไร มีเพียงรองเท้าที่ถูกดูดเข้าไปจนเละ คมชัดลึก ย้อนไทม์ไลน์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “ทางเลื่อน” รวมทั้งแนะนำวิธีใช้ บันไดเลื่อน และ ทางเลื่อน อย่างไรให้ปลอดภัย
ย้อนไทม์ไลน์อุบัติเหตุ “ทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง”
- 30 ก.ค. 2562 ผู้โดยสารรายหนึ่ง เดินทางมายังสนามบินดอนเมือง ระหว่างเดินบนทางเลื่อนของสนามบิน เมื่อมาถึงสุดทางเลื่อน และกำลังจะก้าวเท้าออกไป มีแรงดึงรองเท้าจากพื้นทางเลื่อน ให้ติดอยู่กับทางเลื่อน จนไม่สามารถยกเท้าออกมาได้ ก่อนผู้โดยสารรายนี้ จะตัดสินใจถอดรองเท้าออก แต่ในจังหวะนั้น รองเท้าก็ถูกทางเลื่อนดูดหายไปด้านในทันที เมื่อสังเกตพบว่า ปลายทางเลื่อนนั้นชำรุดอยู่ จึงเป็นเหตุให้รองเท้าโดนทางเลื่อนดูดเข้าไป เมื่อเจ้าหน้าที่มาปิดการทำงานของทางเลื่อน และเปิดฝาทางเลื่อนออก เพื่อดูรองเท้า ก็พบว่า รองเท้าอยู่ในสภาพที่เละมาก
- 6 ก.ย. 2562 ท่าอากาศยานดอนเมือง ชี้แจงว่า อุบัติเหตุ “ทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง” ทางท่าอากาศยานดอนเมืองดำเนินการเปลี่ยนอะไหล่ที่ชำรุด และทดสอบการใช้งานทางเลื่อนทันที เพื่อให้สามารถเปิดให้ใช้งานตามปกติ พร้อมซ่อมบำรุงรักษาเชิงป้องกัน และตรวจสอบสถานะการทำงานของอุปกรณ์ ลิฟต์ บันไดเลื่อน และทางเลื่อน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น และมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ทั้งในและต่างประเทศ โดย ทอท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงรายเดียวในประเทศไทยของผลิตภัณฑ์นั้น เพื่อควบคุม ตรวจสอบและบำรุงรักษา โดยมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบสถานการณ์ทำงานของอุปกรณ์ทางเลื่อน 8 รอบต่อวัน เพื่อเฝ้าระวังหรือตรวจสอบความผิดปกติของอุปกรณ์
นอกจากนี้ ท่าอากาศยานดอนเมือง ยังติดตั้งเสาสัญญาณเสียง-สัญญาณไฟไว้ ซึ่งเป็นอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานของผู้โดยสาร สำหรับเตือนการใช้งานก่อนการเข้าใช้และระหว่างการใช้งานก่อนสิ้นสุดทางเลื่อน เพื่อให้ผู้ใช้งานได้เตรียมตัวก่อน
วิธีใช้ “ทางเลื่อน-บันไดเลื่อน” ให้ปลอดภัย
- จับราวมือจับบันไดเลื่อนด้านหนึ่งด้านใดไว้ตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการจับราวมือจับบันไดเลื่อนสองด้าน
- ยืน และวางตำแหน่งเท้าในขั้นบันไดเลื่อนให้มั่นคง อย่ายืนบนจมูกบันไดเลื่อน หรือวางเท้าชิดลูกตั้งบันไดเลื่อนเกินไป
- ยืนชิดด้านใดด้านหนึ่งของบันไดเลื่อน เพื่อเหลือช่องว่างที่ขั้นบันไดเลื่อนกรณีฉุกเฉิน
- ขณะใช้บันไดเลื่อน ให้มีสมาธิ และหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์สื่อสาร
- ก้าวเดินเข้า และออกจากบันไดเลื่อนตามปกติ อย่าวิ่ง หรือกระโดดข้ามแผ่นพื้นปิดบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน
- ขณะใช้บันไดเลื่อน เด็กเล็กต้องอยู่ในสายตาเสมอ ห้ามเด็กเล็กใช้บันไดเลื่อนโดยลำพัง
- ใช้บันไดเลื่อนให้ถูกทิศทาง
- ห้ามชะโงกศีรษะ และยื่นแขน ขาออกนอกบันไดเลื่อน
- ห้าม รองเท้าสเก็ต รองเท้าล้อเลื่อน จักรยาน รถเข็นที่ไม่ได้ออกแบบล้อให้ล็อคกับขั้นบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน ใช้บันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน
- ห้ามสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ชั้นบันไดเลื่อน ต้องอุ้มสัตว์เลี้ยงไว้กับตัวเสมอ
- อย่าเก็บสิ่งของที่ตกหล่นอยู่ที่บันไดเลื่อน
- ห้ามใช้บันไดเลื่อนขนสัมภาระ
- ห้ามรถเข็นเด็กใช้บันไดเลื่อน ต้องพับเก็บและอุ้มเด็กเล็กไว้
- ห้ามเล่น หรือปีนป่ายราวมือจับบันไดเลื่อน
- ห้ามนั่งบนขั้นบันไดเลื่อน
- ห้ามยืนพิงราวมือจับบันไดเลื่อน
- ห้ามวางเท้าชิด เตะหรือใช้เท้าถูขอบข้างบันไดเลื่อน
- ห้ามกระทืบ กระแทกขั้นบันไดเลื่อน และแผ่นปิดบันไดเลื่อน
- ห้ามวิ่งสวนทางกับทิศทางการทำงานของบันไดเลื่อน
- กรณีเกิดไฟไหม้ห้ามใช้บันไดเลื่อน
- ให้กดปุ่มหยุดบันไดเลื่อน หรือทางเลื่อน ในกรณีฉุกเฉิน หรือพบเห็นอุบัติเหตุจากการใช้งานบันไดเลื่อน หรือทางเลื่อน หลังจากนั้นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
ข้อแนะนำสำหรับอาคาร
- ห้ามมีสิ่งปลูกสร้าง วางสิ่งของ หรือติดตั้งเสาขวางบริเวณทางเข้า และออกภายในระยะปลอดภัยของบันไดเลื่อน (ประมาณ 2.50 เมตร) จะต้องเป็นพื้นที่ว่าง
- บริเวณบันไดเลื่อนต้องแห้ง สะอาด ไม่มีขยะ และต้องไม่มีน้ำเจิ่งนอง
- ห้ามทำความสะอาดราวมือจับบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน ขั้นบันไดเลื่อน หรือทางเลื่อน และชิ้นส่วนต่าง ๆ ขณะที่บันไดเลื่อน หรือทางเลื่อนทำงาน
- บำรุงรักษา และตรวจสอบความปลอดภัยบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน ตามคำแนะนำของผู้ผลิตแต่ไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง
- ปรับแต่ง ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด สึกหรอตามอายุการใช้งานและตามคำแนะนำของผู้ผลิต
- ก่อนการเปิดใช้งานจะต้องเดินสำรวจตลอดบันไดเลื่อน หรือทางเลื่อนทุกครั้ง
- จัดให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยประจำปีตามกฎหมาย