รู้จัก 'ไวรัสแลงยา' ไวรัสกลุ่ม เฮนิปา ติดเชื้อจากสัตว์สู่คน ระบาดคล้าย โควิด
รู้จัก 'ไวรัสแลงยา' ไวรัสกลุ่ม เฮนิปา ติดเชื้อจากสัตว์สู่คน ระบาดคล้าย โควิด คาดมาแทนที่ พบครั้งแรกที่ประเทศจีน
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เผยแพร่ถึง ไวรัสตัวล่าสุด ที่ต้องจับตามอง 'ไวรัสแลงยา' หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ไวรัสเฮนิปา (Langya henipavirus) ที่อาจมาแทนที่ โควิด19 ขณะที่ภัยคุกคามจากการระบาดใหญ่ของโควิด19 ดูเหมือนกำลังจะกลายสภาพเป็นโรคประจำฤดูกาล แต่กลับพบไวรัสกลุ่มใหม่ 'เฮนิปา' ที่มีลักษณะการระบาดคล้าย โควิด-19 เข้ามาแทนที่
ดร.เอเรียล ไอแซกส์ และ ดร.หยู ชาง โลว์ นักวิจัยจาก School of Chemistry and Molecular Biosciences แห่งมหาวิทยาลัย "ควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย" ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงในวารสารวิชาการทางการแพทย์ "Nature Communications" ในเดือนมิถุนายน 2566 ชี้ให้เห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงสูงมากที่เชื้อ "ไวรัสแลงยา ในกลุ่มเฮนิปา (Langya henipavirus หรือ LayV,)" ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแต่น่ากังวล กำลังจะมีการแพร่ระบาดใหญ่ในมนุษย์ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดระหว่างคนสู่คนก็ตาม แต่กลับพบการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนของไวรัสแลงยาถี่ขึ้นเป็นลำดับ
และหากมีการกลายพันธุ์เพียงไม่กี่ตำแหน่งบนจีโนมที่ส่งผลให้ส่วนหนามของไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้นจะช่วยให้ 'ไวรัสแลงยา' สามารถก้าวข้ามจากสัตว์มาระบาดในหมู่คนได้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งในอดีต ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ได้เตรียมพร้อมตรวจสอบรหัสพันธุกรรมอย่างรวดเร็ว (mass array genotyping) เพื่อตรวจจับไวรัสแลงยาดังกล่าวจากสิ่งส่งตรวจแล้ว
องค์การอนามัยโลก และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกคาดคะเนว่า ภัยคุกคามโรคติดเชื้อที่จะระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ครั้งต่อไปต่อมนุษยชาตินอกเหนือจาก ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่หรือ ไวรัสไข้หวัดนก แล้ว อาจเป็นกลุ่ม ไวรัสเฮนิปา อันประกอบไปด้วย ไวรัสแลงยา นิปาห์ และเฮนดรา
'ไวรัสแลงยา' เป็นเชื้อโรคไวรัสติดต่อจากสัตว์มาสู่คน พบครั้งแรกในชาวไร่จำนวน 35 คนในมณฑลซานตงและเหอหนานของประเทศจีน ในปี 2565 ไวรัสแลงยาจัดอยู่ในตระกูล Paramyxoviridae เช่นเดียวกับ 'ไวรัสเฮนดรา' และ 'ไวรัสนิปาห์' ที่ผู้ติดเชื้อมีอัตราการตายสูงกว่า 70% เป็นไวรัสที่สายจีโนมเป็น 'อาร์เอ็นเอ' เมื่อติดเชื้อจะทำให้ เกิดไข้และอาการระบบทางเดินหายใจอักเสบรุนแรง และอาจนำไปสู่โรคปอดบวมถึงแก่ชีวิตได้ เช่นเดียวกับโควิด-19
ไวรัสแลงยา พบมีการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น มนุษย์ สุนัข แพะ และคาดว่าสัตว์รังโรคดั้งเดิมของมันคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กคล้ายหนู มีปากยาวแหลม(shrews) ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตเนื่องจากไวรัสแลงยาและยังไม่พบว่าไวรัสแลงยาสามารถแพร่เชื้อติดต่อจากคนสู่คน นักวิจัยเตือนว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่ไวรัสแลงยาแพร่ระบาดมาสู่ผู้คน และมันจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
ไวรัสตัวนี้ค่อนข้างใหม่ (สำหรับมนุษย์) ที่อาจก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลก และมีความคล้ายคลึงกันอย่างน่ากังวลเช่นเดียวกับไวรัสโคโรนาที่มีการระบาดในมนุษย์ไปทั่วโลก ดร.เอเรียล ไอแซกส์ และทีมวิจัยได้ค้นพบโครงสร้างของโปรตีนบนหนามของไวรัสที่เรียกว่า "ฟิวชันโปรตีน"
หน้าที่ของฟิวชันโปรตีนคือทำหน้าที่เสมือนเป็นสะพานนำพาไวรัสแลงยาเข้าสู่เซลล์ โดยหลอมรวมผนังหุ้มของไวรัสเข้ากับเยื่อหุ้มเซลล์ของผู้ติดเชื้อ ทำให้ไวรัสสามารถเข้าไปภายในเซลล์และเริ่มการแบ่งตัวภายในเซลล์ติดเชื้อได้
ทีมวิจัยได้ศึกษาโครงสร้างฟิวชันโปรตีนในระดับอะตอมโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอนไครโอเจนิกของศูนย์จุลทรรศน์และการวิเคราะห์อนุภาคไวรัสของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย การเข้าใจโครงสร้างและวิธีการเข้าสู่เซลล์ของ 'ไวรัสแลงยา' ถือเป็นขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันและยาต้านไวรัสเพื่อการรักษาต่อสู้กับการติดเชื้อ ไวรัสแลงยา ไวรัสนิปาห์ และไวรัสเฮนดรา ในตระกูลของ Paramyxoviridae
"ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาหรือวัคซีนสำหรับไวรัสกลุ่มนี้ และพวกมันมีศักยภาพสูงที่องค์การอนามัยโลกให้เฝ้าติดตามการระบาดในวงกว้าง"
ศาสตราจารย์ แดเนียล วัตเตอร์สัน (Daniel Watterson) นักวิจัยอาวุโสในโครงการ กล่าวว่าพวกเขาพบว่าโครงสร้างฟิวชันโปรตีนในส่วนหนามของ 'ไวรัสแลงยา' นั้นคล้ายคลึงกับ 'ไวรัสเฮนดรา' และ 'ไวรัสนิปาห์' (ที่มีอันตราย อัตราการตายสูงถึง 70%) แต่มีความแตกต่างกันในแง่ของแอนติเจนทำให้วัคซีนที่พัฒนาต่อไวรัสแลงยาอาจไม่ครอบคลุมป้องกันการติดเชื้อไวรัสเฮนดรา และไวรัสนิปาห์ "ไวรัสเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดโรคร้ายแรงที่มีโอกาสที่จะควบคุมไม่ได้หากเราไม่เตรียมพร้อมอย่างเหมาะสม" ดร. วัตเตอร์สันกล่าว
"เราได้เห็นว่าโลกไม่ได้เตรียมตัวอย่างไรสำหรับการระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ดังนั้นเราต้องการเตรียมพร้อมมากกว่านี้สำหรับการระบาดครั้งต่อไปของโรคอุบัติใหม่"
ในตอนนี้ทีมวิจัยเร่งศึกษาส่วนหนามเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาวัคซีนที่สามารถใช้ฉีดป้องกันไวรัสสายพันธุ์ย่อยได้ทั้งหมด (broad-spectrum vaccine) รวมทั้งการพัฒนายาต้านไวรัสเพื่อการรักษาโรคติดเชื้อ ไวรัสแลงยา, นิปาห์, และเฮนดรา
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications
https://www.nature.com/articles/s41467-023-39278-8