ย้อนตำนาน 'ช้างฮานาโกะ' ทำไมได้ชื่อว่า ช้างไทย ที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก
ย้อนตำนาน 'ช้างฮานาโกะ' ทูตสันถวไมตรี ที่ส่งไปเยียวยาหัวใจเด็ก ญี่ปุ่น ทำไมได้ชื่อว่า 'ช้างไทย' ที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก
การกลับคืนสู่มาตุภูมิของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” หลังถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ศรีลังกา นาน 22 ปี สร้างความยินดีให้กับคนทั้งประเทศ ซึ่งภายหลังพบว่า พลายศักดิ์สุรินทร์ มีชีวิตที่ตกระกำลำบาก ไม่ได้รับการดูแล จนเจ็บป่วยร่างกายทรุดโทรม ทำให้หลายฝ่าย ร่วมกันผลักดัน ทวงคืนพลายศักดิ์สุรินทร์กลับคืนสู่บ้านเกิด
การส่งช้างไทยไปเป็นทูตสันถวไมตรี ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ครั้งที่น่าจะเป็นที่จดจำของทั่วโลกได้เป็นอย่างดี ย้อนกลับไปเมื่อ 74 ปีก่อน คือ “ช้างฮานาโกะ” ช้างไทย เคยถูกส่งไปญี่ปุ่น เพื่อเยียวยาเด็กกำพร้า จากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สุดท้ายช้างฮานาโกะ กลับต้องตายอย่างโดดเดี่ยว ที่ไม่ใช่แผ่นดินเกิด คมชัดลึก พาย้อนรอย “ช้างฮานาโกะ” ทำไมถึงได้ชื่อว่าเป็น ช้างไทย ผู้โดดเที่ยวที่สุดในโลก
ย้อนตำนาน “ช้างฮานาโกะ”
1. วันที่ 2 ก.ย. ปี 2492 วันที่ “ช้างฮานาโกะ” (Hanako) ถูกส่งเป็นของขวัญจากประเทศไทย มอบให้รัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อเยียวยาเด็กญี่ปุ่นผู้กำพร้า หลังปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่อายุเพียง 2 ปี เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นช้างที่ยังเด็กมาก ที่จะถูกจับแยกจากแม่มาอยู่ลำพัง
2. จุดเริ่มต้น เกิดจาก ร.อ.สมหวัง สารสาส ทายาทของ พ.ท. พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์) ต้นตระกูล “สารสาส” อดีต รมต.กระทรวงเศรษฐการ สมัย รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มีความผูกพันกับประเทศญี่ปุ่นมาก เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม จึงได้ซื้อลูกช้างพัง (ช้างเพศเมีย) 1 เชือก ส่งไปให้ สวนสัตว์อุเอโนะ กรุงโตเกียว เพื่อเป็นการปลอบโยนเด็กๆ ที่ต้องหวาดกลัวกับสงครามครั้งนี้
3. สวนสัตว์อุเอโนะ ตั้งชื่อให้ว่า “ฮานาโกะ” แปลว่า ดอกไม้สีทอง เพื่อทดแทนช้างไทยตัวเก่า ที่ก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลไทย ได้ส่งไปสานสัมพันธ์กับญี่ปุ่น เมื่อปี 2478 คือช้างวันดี และทางสวนสัตว์ได้ตั้งชื่อว่า “ฮานาโกะ” เช่นกัน และได้ตายลงในเวลาต่อมา การตั้งชื่อนี้ จึงตั้งชื่อให้เหมือนช้างน้อยที่จากไป
4. ความทรงจำของช้างไทยตัวแรก มีบันทึกไว้ในตอนหนึ่งของการ์ตูน โดราเอมอน โดย ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ ที่เขียนถึงความผูกพันของคนโตเกียวกับ “ช้างฮานาโกะ” ยุคก่อนสงครามโลก
5. เนื่องจากไม่ทราบวันเกิดแน่ชัดของ “ช้างฮานาโกะ” ทางญี่ปุ่นจึงถือเอาวันแรกของปี 2490 เป็นวันคล้ายวันเกิด และต่อมา ฮานาโกะ ได้ย้ายไปอยู่ที่สวนสัตว์อิโนะกะชิระ (Inokashira Park Zoo) เมือง Musashino เป็นการถาวร
6. “ช้างฮานาโกะ” เป็นขวัญใจมหาชน ถึงขั้นสัญลักษณ์ประจำสวนสัตว์อิโนะกะชิระ สวนสัตว์เป็นรูปฮานาโกะ และเมืองมูซะชิโนะ ก็เป็นรูปช้างฮานาโกะ อีกทั้ง ฮานาโกะยังถูกใช้ในงานรณรงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น การป้องกันอัคคีภัย
7. วันที่ 1 ม.ค. 2556 สวนสัตว์อิโนะกะชิระ ได้จัดงานฉลองวันเกิดครบ 66 ปี ให้ช้างไทยขวัญใจชาวญี่ปุ่นเชือกนี้ โดยมีนายกเทศมนตรีแห่งเมืองมุซะชิโน ร่วมด้วย ดร.ชินเวศ สารสาส บุตรชายของ ร.อ.สมหวัง และอุปทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ไปร่วมงานฉลอง พร้อมกับประชาชนราว 800 คน ร่วมกันมอบเค้กวันเกิดที่ทำจากขนมปัง มันเทศ หัวแครอท และสตรอเบอร์รีให้ฮานาโกะ และกลายเป็นอีกข่าวดังในสื่อมวลชนทั่วประเทศญี่ปุ่น
จุดเริ่มต้นตำนาน ช้างผู้โดดเดี่ยว
8. จากเดิม “ช้างฮานาโกะ” มีบ้านที่ค่อนข้างสะดวกสบาย เป็นโรงช้างพื้นที่ 260 ตารางเมตร มีพื้นที่หลบแดด และมีเครื่องทำความร้อนสำหรับหน้าหนาว มีบ่อน้ำกลางแจ้ง และลานกว้างให้เล่นได้
9. เมื่อมาถึงจุดพลิกผัน ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ช่วงปี 2503 ฮานาโกะ ทำให้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์เสียชีวิต จนต้องถูกจับล่ามโซ่และขังเดี่ยวในคอกคอนกรีต ซึ่งถือว่าเป็นการทำร้ายช้างที่มีอุปนิสัยเป็นสัตว์สังคม และเรื่องนี้ก็ถูกเขียนเป็นหนังสือ และสร้างเป็นละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นมาแล้ว
10. ฮานาโกะ ตาย ในเดือน พ.ค. 2559 ขณะอายุ 69 ปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นช้างเชือกที่อายุมากที่สุดในญี่ปุ่นตอนนั้น แต่ที่น่าเศร้าคือ การตายของฮานาโกะนั้น เป็นการตายที่โดดเดี่ยว อยู่ในคอกคอนกรีตแคบๆ ที่ถูกขัง
11. เรื่องราวความโดดเดี่ยวของฮานาโกะ ปรากฏในสื่อต่างๆ ทั่วโลก ทั้ง CNN, The Washington Post และ The New York Times พร้อมทั้งช่วยปลุกกระแสพิทักษ์สัตว์ การปรับวิธีการ โดยคำนึงถึงเมตตาธรรมในการดูแลช้างในสวนสัตว์ทั่วญี่ปุ่นให้เกิดขึ้น โดยองค์กรอย่าง Elephants in Japan และ Zoocheck องค์กรพิทักษ์สัตว์ป่าสากล ได้ช่วยผลักดันให้ช้างเชือกอื่นๆ ได้รับการดูแลอย่างเข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะช้างชรา ที่ปลดระวางจากการทำงาน หรือช้างในสวนสัตว์นั้น ต้องไม่ถูกเลี้ยงอยู่อย่างโดดเดี่ยว
12. ต่อมา ทางการญี่ปุ่นได้อนุมัติให้ทำรูปปั้นเท่าตัวจริงของ “ช้างฮานาโกะ” สูง 1.5 เมตร เป็นอนุสรณ์แก่ช้างไทย โดยปัจจุบัน รูปปั้นฮานาโกะ ตั้งอยู่ที่หน้าสถานีรถไฟ คิชิโจจิ (Kishijoji Station) ในเมือง Musashino ชานกรุงโตเกียว
ขอบคุณภาพ-ข้อมูลจาก : สารคดี,เนชั่นทีวี