ข่าว

'บัณเฑาะก์' คืออะไร ใน พระพุทธศาสนา กะเทย บวช ได้หรือไม่

'บัณเฑาะก์' คืออะไร ใน พระพุทธศาสนา กะเทย บวช ได้หรือไม่

05 ก.ค. 2566

ไขข้อข้องใจ 'บัณเฑาะก์' คืออะไร ใน พระพุทธศาสนา 'กะเทย' บวช ได้หรือไม่ หลังเกิดประเด็นดราม่ากับ 'เขื่อน ภัทรดนัย'

ปัจจุบัน สังคมให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ ทั้งชาย หญิง ทอม ดี้ เลสเบี้ยน กะเทย ฯลฯ ไม่ว่าจะเพศใด ก็ควรที่จะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเรื่องของการ บวช เพราะในระยะหลัง มักจะเห็นข่าวพระ เพศที่สาม ออกมาเป็นระยะ จนนำมาสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า แท้จริงแล้ว กะเทยสามารถบวชได้หรือไม่?

 

 

 

 

 

 

โดยเฉพาะกับประเด็นล่าสุด การบวชของ “เขื่อน ดนัย” หรือ เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ อดีตนักร้องดัง ทำให้เกิดประเด็นดราม่าขึ้น บนโลกโซเชียล เกี่ยวกับการเป็นเพศที่สาม หรือ LGBTQ ของ พระเขื่อน เพราะเป็น “บัณเฑาะก์” ไม่สามารถบวชได้ แต่หากบวชแล้ว ต้องให้สึกเสียทันที คำถามจึงเกิดขึ้นมาอีกว่า แล้ว “บัณเฑาะก์” คืออะไร ในพระพุทธศาสนา ไม่สามารถบวชได้จริงหรือไม่ คมชัดลึก สรุปข้อควรรู้เกี่ยวกับคำว่าบัณเฑาะก์ มาให้เข้าใจ

 

    เขื่อน ภัทรดนัย

บัณเฑาะก์ คืออะไร

 

 

 

เมื่อตรวจสอบในคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่พระมหาเถระ และ นักวิชาการด้านศาสนา ได้อธิบายกับ คมชัดลึก ขยายความถึงข้ออรรถข้อธรรมต่างๆ อธิบายเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย จะพบว่า ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ในข้อว่า “บัณเฑาะก์” นั้น พระอรรถกถาจารย์อธิบายขยายความแยกบัณเฑาะก์ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

 

 

 

  1. อาสิตตบัณเฑาะก์ คือ ชายที่อมอวัยวะเพศของชายอื่น
  2. อุสุยยบัณเฑาะก์ คือ ชายที่ชอบพอใจในการดูกิจกรรมร่วมเพศระหว่างชายกับชาย
  3. โอปักกมิยบัณเฑาะก์ คือ บุคคลที่ถูกตอน เช่น ขันที
  4. ปักขบัณเฑาะก์ คือเป็นบัณเฑาะก์ในช่วงข้างแรม (มีอารมณ์กำหนัดบางวัน) แต่ช่วงข้างขึ้นไม่เป็น      
  5. นปุงสกัปบัณเฑาะก์ คือ ผู้มีความบกพร่องทางเพศสภาพ คือไม่ปรากฏเพศที่แน่ชัด

 

 

 

ทั้งนี้ ในบัณเฑาะก์ 5 ประเภทนั้น บัณเฑาะก์ที่ห้ามการอุปสมบทอย่างเด็ดขาด มีแค่ 2 ประเภทเท่านั้น คือ

 

  1. บุคคลที่ถูกตอนอวัยวะเพศไปแล้ว (ปัจจุบันอาจหมายถึงคนที่แปลงเพศด้วย)
  2. บุคคลผู้มีความบกพร่องทางอวัยวะเพศ (ระบุไม่ได้ว่าเป็นเพศไหน)

 

 

บัณเฑาะก์-กะเทย

 

 

กะเทย ตรงกับคำบาลีว่า ’อุภโตพยัญชนก’ หมายถึง ’คนมีอวัยวะ ทั้งสองเพศคือเพศชายและหญิง’ (อุภโต=2, พยัญชนะ=ลักษณะ) เพราะมี ’เครื่องหมาย เพศ’ ของชายและหญิงอยู่ในคนคนเดียว ในที่นี้หมายถึง ทั้งทอม, ดี้, เกย์ (เกย์คิงและเกย์ควีน), เสือใบ ฯลฯ ทั้งหลาย พึงทราบว่า การเกิดมาเป็นกะเทยนั้น ไม่ใช่จำกัดเฉพาะมนุษย์เท่านั้น พระไตรปิฎกหลายเล่ม เช่น พระไตรปิฎกเล่ม 1 วิ.มหา.1/38/52 จำแนกไว้ว่า กะเทยมี 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ กะเทยที่เป็นมนุษย์, กะเทยที่เป็น สัตว์เดรัจฉาน และกะเทยที่เป็นอมนุษย์

 

ภาพประกอบ บัณเฑาะก์คืออะไร

บัณเฑาะก์ บวชได้หรือไม่

 

 

 

 

การอนุญาตให้ “บัณเฑาะก์” บวช พระอรรถกถาจารย์หมายความว่า ต้องเป็นบัณเฑาะก์ก่อนที่จะเข้ารับการอุปสมบท เมื่อบัณเฑาะก์ผู้นั้นมีความประสงค์ที่จะเลือกเพศสภาพแห่งความเป็นชาย ละทิ้งกริยาอาการแห่งหญิง ตั้งใจที่จะมาอุปสมบทบำเพ็ญภาวนา ก็สามารถที่จะกระทำได้ แต่เมื่อบวชแล้วต้องบังคับข่มใจสละประพฤติเดิมนั้นออกเสีย คือเมื่อเลือกที่จะบวชแล้ว ถือได้ว่าเป็นการเลือกเพศสภาพแห่งความเป็นชาย ของตน ข่มจิตใจอาการแห่งความเป็นหญิงไม่ให้ฟุ้งซ่านขึ้น

 

 

 

 

 

การอธิบายของพระอรรถกถาจารย์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดโอกาสของพระพุทธศาสนา คือ อนุโลมให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้มีโอกาสเข้ามาประพฤติตามพระธรรมวินัยได้ แต่ตนเองนั้น ต้องเป็นผู้เลือกที่จะยอมรับวิถีปฏิบัติในหมู่สงฆ์ ส่วนประเภทที่ห้ามบวชนั้น ล้วนมีปัญหาเกี่ยวกับเพศกำเนิดทางกายภาพที่บกพร่อง ในส่วนของผู้ทำการบวชให้ ได้แก่ประชุมสงฆ์อันมีพระอุปัชฌาย์เป็นประธาน พระอุปัชฌาย์นี้ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบกุลบุตร ผู้ที่เข้ามาขออุปสมบทว่าสามารถบวชได้หรือไม่

 

 

 

 

ในขั้นตอนนี้ พระอุปัชฌาย์จะถามอันตรายิกธรรมกับนาค ท่ามกลางหมู่สงฆ์ หนึ่งในนั้นมีข้อหนึ่งถามว่า “...ปุริโสสิ๊..” (เธอเป็นผู้ชายหรือไม่ ?) เมื่อกล่าวตอบว่า “อาม ภนฺเต” (ใช่ครับ) พระอุปัชฌาย์จึงจะอุปสมบทให้ ในขั้นตอนนี้จึงถือเป็นการคัดกรอง สอบถามความแน่ใจ และย้ำเตือนบุคคลที่จะเข้ามาอุปสมบทถึงการเลือก และยอมรับการปฏิบัติอย่างสมณเพศ

 

อดีตมิสทิฟฟานี่ บวช

 

 

ถึงจุดนี้คงได้คำตอบแล้วว่า “บัณเฑาะก์” สามารถบวชได้หรือไม่ แต่ประเด็นที่อาจนำมาพิจารณาต่อว่า เมื่อบวชแล้วนั้นจะประพฤติตนอย่างไรมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2556 อดีตมิสทิฟฟานียูนิเวิร์ส ตัดสินใจบวชตลอดชีวิต ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายว่า สามารถบวชได้หรือไม่

 

 

 

 

ในที่สุดผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติในขณะนั้น ได้ออกมาชี้แจงว่า บวชได้ เนื่องจากไม่ปรากฏสิ่งแปลกปลอมที่แสดงถึงความเป็นเพศหญิง ร่างกายมีสภาพเป็นผู้ชายปกติ ไม่มีจิตใจเป็นผู้หญิง โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าอาวาส ปัจจุบันนี้พระรูปดังกล่าว ยังคงดำรงอยู่ในสมณเพศ บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม และปฏิบัติตนจนเป็นที่ยอมรับของสังคม

 

 

 

 

 

ด้าน ไพรวัลย์ วรรณบุตร โพสต์ข้อความว่า อยากจะบอกให้ทราบว่า การบวชจริงๆ นั้น เป็นแต่เพียงขั้นตอนของการรับรอง มีพระอุปัชฌาย์เป็นผู้นำพาและรับผิดชอบในตัวกุลบุตรต่อหมู่สงฆ์ มีหมู่สงฆ์เป็นสักขีพยานในการรับรู้ถึงการมีอยู่ของภิกษุใหม่ การบวชไม่ใช่เรื่องของชาวเน็ต ศาสนาให้พื้นที่กับผู้คนในการฝึกหัดขัดเกลาอุปนิสัย บัณฑิตไม่ติเตียนใครอย่างปราศจากปัญญาภิกษุดีเลวไม่ได้วัดกันที่ว่าก่อนบวชมีพฤติกรรมอย่างไร แต่วัดกันที่ว่าบวชแล้วครองตนอย่างไรต่างหาก

ปาราชิกข้อแรกมาจากพระผู้ชาย ไม่ได้มาจากพระบัณเฑาะก์ ฝากไว้ให้คิด 

 

 

 

ขอบคุณที่มา : ไพรวัลย์ วรรณบุตร