ข่าว

อดีตเจ้าของ 'พลายศักดิ์สุรินทร์' แจงชัดปมดราม่าใช้งานหนักจนเป็นการทรมาน

อดีตเจ้าของ 'พลายศักดิ์สุรินทร์' แจงชัดปมดราม่าใช้งานหนักจนเป็นการทรมาน

06 ก.ค. 2566

ลูกสาวอดีตเจ้าของ "พลายศักดิ์สุรินทร์" โพสต์แจงปมดราม่า ชี้ชัดสาเหตุอาการบาดเจ็บของ "พลายศักดิ์สุรินทร์"เกิดจากอะไร ไม่ได้เป็นไปตามที่มีกระแสปลุกปั่น

การเดินทางกลับคืนสู่แผ่นดินแม่ของพลายศักดิ์สุรินทร์  หลังถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรี ที่ประเทศศรีลังกา หลังจากที่ศรีลังกาขอลูกช้างเพื่อไปฝึกในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของศรีลังกา เมื่อ 22 ปีก่อน โดยไทยได้ส่งลูกช้างไป 2 เชือก คือพลายศักดิ์สุรินทร์ และ พลายประตูผา  

 

กระทั่งเมื่อปี 2565 องค์กร Rally For Animal Rights & Environment (RARE) ร้องเรียนว่าพลายศักดิ์สุรินทร์ ถูกใช้แรงงานค่อนข้างหนัก ถูกล่ามโซ่ มีสภาพผอมโซ มีบาดแผล มีฝีที่สะโพก และขาซ้ายหน้า งอไม่ได้ 

 

ต่อมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ส่งทีมสัตวแพทย์เดินทางไปเยี่ยมพลายศักดิ์สุรินทร์ พบว่ามีปัญหาสุขภาพจริง และขอส่งตัวกลับมารักษาในประเทศไทย จนในที่สุด พลายศักดิ์สุรินทร์ ก็ได้กลับถึงไทยเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ก็เกิดกระแสดราม่า ว่าหากรักษาพลายศักดิ์สุรินทร์ จนหายดีแล้วจะต้องส่งกลับให้ศรีลังกาอีกหรือไม่ เนื่องจากเป็นห่วงว่าจะไม่ได้รับการดูแลที่ดี รวมถึงอาจถูกใช้งานอย่างหนักเช่นเดิม 

 

 

 

พลายศักดิ์สุรินทร์ และพลายประตูผา ถูกส่งไปเป็นทูตสันตวไมตรี

 

 

ซึ่งเรื่องดังกล่าว น.ส.พัชรพร คูกิจติเกษม บุตรสาวของ นายสมโรจน์ คูกิจติเกษม เจ้าของอาณาจักรพิพิธภัณฑ์ช้างจังหวัดสุรินทร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า 

 

อีกมุมมองนึง ท่ามกลางกระแสปลุกปั่น ว่า ช้างทรมานนับ 22 ปี เป็นเรื่องที่ผิดค่ะ โพสต์นี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำช้างกลับหรือไม่กลับ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทางราชการ เพียงแต่อยากนำเสนอว่า พระที่วัดศรีลังกาเมตตาช้างมาก เมื่อช้างไปถึงศรีลังกาก็ได้รับการดูแลต้อนรับเลี้ยงดูอย่างดี ขากลับได้มาส่งและสวดมนต์ให้เดินทางปลอดภัย อ่านให้จบนะคะ ยาวหน่อยแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่บิดเบือน ช้างกับศาสนาพุทธอยู่คู่กันมายาวนาน พลายศักดิ์สุรินทร์ สาเหตุเกิดจากควาญช้างเก่าเสียชีวิต ควาญช้างใหม่ไม่รู้วิธีจัดการช้างตกมันที่ถูกต้อง จึงได้กลับมารักษาที่ไทย 

 

 

พลายศักดิ์สุรินทร์ และพลายประตูผา ถูกส่งไปเป็นทูตสันตวไมตรี

 

 

ถ้าเทียบกับการเอาช้างไปลากซุงในไทย เรียกว่า ช้างงาน ที่มีงาสั้นแล้ว การร่วมพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ เป็นงานเบา มีเกียรติ ปีนึงมีไม่กี่ครั้ง เช่นเดียวกับในสุรินทร์ที่มีการบวชนาคช้าง ตักบาตรบนหลังช้าง จดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง ซึ่งเป็นการประกอบพิธีมงคลทางศาสนา เป็นวัฒนธรรม ซึ่งเริ่มแพร่หลายไปทั่วประเทศ ในการใช้ช้างประกอบพิธีมงคลต่างๆ

 

 

พลายศักดิ์สุรินทร์ และพลายประตูผา ถูกส่งไปเป็นทูตสันตวไมตรี

 

 

ช้างที่เราเลี้ยงไว้เรียกว่า ช้างบ้าน สังเกตได้ว่างาช้างมีความสง่างามคงรูปเดิม เพราะถ้างานหนักแล้วนั้น งาไม่มีทางยาวสวยได้ขนาดนี้ หากมีความเครียดหรือระวังภัยช้างจะกำจัดงาทิ้งเพื่อเหลือความยาวระยะที่เหมาะสม ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวของช้างได้ หรือเล่นโซ่จนงามีตำหนิ งาช้างคือของรักของช้างเลยค่ะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความบริสุทธิ์ เป็นมงคล จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าทางศรีลังกาดูแลช้างได้อย่างดี ไม่มีการใช้งานเยี่ยงทาส 

 

แผลและขาในช่วงหลัง

ขยายความเรื่องแผลและขาในช่วงหลัง ทราบว่าเกิดจากควาญช้างคนใหม่ที่ไม่รู้วิธีดูแลเหมือน ควาญช้างเดิมที่เสียชีวิตไป และการจัดการให้ถูกต้องในขณะที่ ช้างตกมัน เราได้ส่งควาญไทยไปแก้ไข และช่วยดูแลช้างขณะตกมัน ไม่จำเป็นต้องทำรุนแรง

 

ด้วยธรรมชาติของพลายศักดิ์สุรินทร์มีความเชื่อง แสนรู้ตั้งแต่ยังเล็ก (เหมือนวีดีโอวันส่งช้าง) แทบไม่จำเป็นต้องใช้ตะขอและโซ่ หากสื่อถึงกัน ควาญชาวกูย มีวัฒนธรรมเลี้ยงช้างที่ควรค่าแก่การศึกษายิ่ง ช้างสุรินทร์จึงมีความแสนรู้ ฉลาด และเป็นเหมือนคนในครอบครัว

 

ช้างพลายตกมัน

แต่การตกมันของช้างพลายที่มีร่างกายอุดมสมบูรณ์มากในช่วงเจริญพันธุ์ (ทานอาหารจนอ้วนท้วนแล้วหงุดหงิดกลัดมัน) เป็นธรรมชาติสภาวะชั่วครั้งชั่วคราวในช้างพลาย ปีละ 1-2 ครั้งตามอาหารที่สมบูรณ์ ระยะเวลาของการตกมันนานประมาณ 3 เดือน อันมีลักษณะของพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างสูง ในขณะที่ช้างกำลังตกมันนั้น จะแสดงอาการดุร้าย และทำร้ายสิ่งที่ขวางหน้าทุกสิ่งทุกอย่าง

 

นอกจากนั้นยังมีความจำเสื่อม จึงอาจทำร้ายควาญหรือเจ้าของได้ ดังนั้นควาญคนใหม่จึงควบคุมช้างไม่อยู่ เพราะขาดองค์ความรู้ในจุดนี้ และหากควบคุมในวิธีที่ผิด หนามยอกเอาหนามบ่ง จึงทำให้เกิดบาดแผลต่างๆ

 

การจัดการที่ถูกต้องขณะช้างตกมัน นี่เป็น คชศาสตร์ในการเลี้ยงช้าง ที่ต้องใช้ความรู้และความเข้าใจ ศาสตร์และศิลป์ เปรียบเทียบหากเด็กดื้อยังต้องถูกอบรม แต่อบรมวิธีไหนนั้น ต้องคำนึงถึงผลที่ตามมาค่ะ แม้แต่ที่ไทยเราก็ต้องกั้นเขตดูแลรักษาช้างตกมัน แยกจากคนและช้างเชือกอื่น เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย อยู่ในที่สงบ ให้อาหารซึ่งอิ่มแต่ไม่เกิดพลังงานมาก เพื่อให้ค่อยๆทุเลาจากสภาวะนี้

 

การแห่พระเขี้ยวแก้ว

สุดท้ายนี้ขอท้าวความพระไตรปิฎกใน ศาสนาพุทธ มีตำนาน ช้างปาลิไลยกะ ที่เลื่อมใสเข้ามาปรนนิบัตรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ช้างปัจจัยนาเคนทร์ ที่พระเวสสันดรได้บริจาค ไปยังเมืองที่แห้งแล้ง และช้างอีกมากมายในพุทธประวัติ ครั้งเมื่อล้มไปก็ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึง จึงมีความเชื่อว่าช้างที่ได้รับใช้พุทธศาสนาก็จะส่งผลบุญแก่ช้างเช่นกัน

 

การแห่พระเขี้ยวแก้ว ที่ วัดพระเขี้ยวแก้ว หรือ วัดศรีทัลฒามัลลิกาววิหาร เป็นวัดในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท (สยามวงศ์) ตั้งอยู่ริมทะเลสาบกัณฏิ เมืองกัณฏิ หรือ แคนดี ประเทศศรีลังกา เป็นวัดที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวาของพระพุทธเจ้าซึ่งได้รับขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก พระทันตธาตุเพียงองค์เดียว ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลังกา มีหลักฐานรองรับความถูก ต้องตรงตามพระคัมภีร์มหาวังศา ด้วยว่าพระทันตธาตุหลังจากการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ และ นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9 จึง ถือเป็นบุญแก่พี่ พลายศักด์สุรินทร์ และ พลายศรีณรงค์ ของเราชาวไทย ที่ได้รับใช้ในการประกอบพิธีทางพุทธศาสนา ประชาชนทั่วสารทิศได้กราบสักการะบูชาตลอดขบวนแห่นี้ กราบสาธุในหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ค่ะ

 

หลังจากนี้เราขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธ์ ครูปะกำ เทวด้า และบรรดาบรรพชนหมอช้างชาวกูย ดลให้พลายศักดิ์สุรินทร์มีชีวิตที่มีความสุข รับการรักษากาย สบายใจในการคุ้มครองของสภาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
ขอให้พลิกวิกฤตินึ้เป็นแสงนำทางให้คนไทยช่วยกัน อนุรักษ์ช้าง ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์สัญลักษณ์ของประเทศไทย ให้ช้างในไทยทุกเชือกอยู่ดีมีสุข ได้รับ การอนุรักษ์และการจัดการที่ถูกต้อง ต่างมุมมอง ต่างความคิด ต่างวัฒนธรรมประเพณี ศาสนา และความเชื่อ แต่ส่วนดีคือเคสนี้เห็นได้ว่าคนไทยรักช้างมากจริงๆ ไม่แพ้เราที่เป็นเจ้าของช้างที่คลุกคลีกับช้างตั้งแต่เล็ก ขอบคุณที่อ่านจบนะคะ

 

 

ส่วนพลายประตูผา ซึ่งเดินทางไปศรีลังกา พร้อมกับ พลายศักดิ์สุรินทร์  ซึ่งมีเสียงเรียกร้องให้นำตัวกลับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันถูกผูกอยู่ที่เดิม ภายในวัดเล็กๆ ในการดูแลของวัดพระเขี้ยวแก้ว  โดย ดร.ชญาน์นันท์ อัศวธรรมานนท์ อาจารย์ประจำสาขาพระพุทธศาสนา-วิทยาลัยสงฆ์ เปิดเผยว่า ผ่านเฟซบุ๊ก Chayanan Assawadhammanond ว่า

 

สัตวแพทย์​ระบุพลายประตูผาอายุมาก หากขนย้ายเสี่ยงอันตรายกับตัวพลายประตูผา นอกจากนี้ ยังพบว่ามีแผลที่ขาหลัง 2 ข้าง ที่มีแผลใหม่และรอยแผลเก่าจำนวนมาก และที่กกหางมีเลือดออกซิบๆ อีกด้วย 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา เฟซบุ๊ก Phatcharaphorn Kookijtikasem