เช็กรายชื่อผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ 'สะพานถล่ม' ลาดกระบัง กระจาย 2 โรงพยาบาล
เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ 'สะพานถล่ม' ลาดกระบัง กระจาย 2 โรงพยาบาล 'ผู้ว่าฯ กทม.' ปัด สั่งแก้แบบ เชื่อสาเหตุ เกิดจากความผิดพลาด ระหว่างก่อสร้าง เร่งรื้อถอนภายใน 3 วัน
ความคืบหน้าเหตุคาน “สะพานถล่ม” บริเวณหน้าห้างโลตัส ลาดกระบัง ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย คือวิศวกรที่คุมงานก่อสร้างและคนงาน รวมทั้งมีผู้ได้รับเจ็บอีกกว่า 10 ราย
ล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วยทีมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงความคืบหน้า โดยระบุว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบ สันนิษฐานว่า เกิดจากตัวโครงสร้างสะพาน (Box Segment) พังลง ขณะดึงลวดอัดแรง ส่งผลให้ Launching Truss เสียสมดุล และล้มพับ ทับโครงสร้างสะพานบริเวณเสาที่ 83 และ 84 เสียหาย 1 ช่วงสะพาน
ผู้ว่าฯ กทม. ปฎิเสธว่า กทม.ไม่ได้เป็นคนสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบในการก่อสร้าง แต่ทางผู้รับเหมาได้แจ้งขอเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้าง เมื่อเดือน ต.ค.2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้การก่อสร้างเร็วขึ้น จากแบบเดิมการหล่อตัว Box Segment ทำในพื้นที่ แต่ขอเปลี่ยนแบบ Box Segment แบบสำเร็จ แต่ยืนยันว่า รูปแบบดังกล่าว เป็นวิธีก่อสร้างที่มีการทำกันอยู่แล้ว มีการควบคุมตามหลักวิศวกรรม ไม่ได้มีความปลอดภัยน้อยลง แต่คาดว่า สาเหตุที่สะพานถล่ม เกิดจากความผิดพลาดในการก่อสร้าง
ส่วนบริษัทที่รับเหมา ยอมรับว่า เพิ่งรับงานครั้งแรกกับทาง กทม. และประมูลตามขั้นตอน โดยเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 4 แสนบาท และเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งนอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ใน กทม. ไม่มีการก่อสร้างแบบในจุดอื่น มีเพียงการก่อสร้างสะพานทางเดินเชื่อมตรงย่านบางกะปิ
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้คือ ให้บริษัทรับเหมา เสนอแผนการรื้อถอน โดยมีสำนักโยธาฯ กทม.และวิศวกรรมสถานเป็นผู้พิจารณา ขณะนี้สั่งระงับการก่อสร้างทั้งหมดไว้ก่อน และตรวจสอบความแข็งแรงของตัว Launching Truss อีกตัวที่เหลืออยู่ คาดว่า จะต้องปิดการจราจรอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งในขั้นตอนการรื้อถอน ได้สั่งกำชับให้มีการเก็บหลักฐานต่างๆ ด้วย
สำหรับผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ จากเหตุสะพานถล่ม รวมถึงทรัพย์สินความเสียหายต่างๆ ทาง กทม.และบริษัทผู้รับเหมาพร้อมรับผิดชอบ และดูแลอย่างเต็มที่ เบื้องต้น ผู้บาดเจ็บ 13 ราย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์แล้ว
รายชื่อผู้เสียชีวิต 2 ราย
- นายอรัญ สังขรักษ์ อายุ 24 ปี คนงานของโครงการ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9
- นายฉัตรชัย ประเสริฐ วิศวกรโครงการ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
รายชื่อผู้ได้รับบาดเจ็บ 13 ราย
ส่งโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 รวม 5 ราย
- น.ส.รัชนี นาคทรงแก้ว อายุ 46 ปี
- นายธนดล คลังจินดา อายุ 47 ปี
- น.ส.อุไรวรรณ วะเรืองรัมย์ อายุ 38 ปี
- นายศุภชัย พวงยี่โถ อายุ 15 ปี
- นายอรัญ สังข์รักษ์ อายุ 24 ปี
ส่งโรงพยาบาลลาดกระบัง 2 รวม 8 ราย
- นายพรรษา พวงยี่โถ อายุ 43 ปี
- นายศรศักดิ์ เหมือนพร้อม 26 ปี
- นายสุเทพ สุวรรณทา
- นายวีสิทธ์ แจ้งทา อายุ 35 ปี
- นายทัศนัย รัตนแสง อายุ 31 ปี
- น.ส.มัจฉา เสียวสุข อายุ 25 ปี
- นายณัฐพงษ์ มัคยุโสม
- นายอารักษ์ กิ่งคำ อายุ 59 ปี