ข่าว

'โอไมครอน EG.5.1' เสี่ยงระบาดแค่ไหนในไทย เปิด 7 ปัจจัยทำระบาดในแต่ละประเทศ

'โอไมครอน EG.5.1' เสี่ยงระบาดแค่ไหนในไทย เปิด 7 ปัจจัยทำระบาดในแต่ละประเทศ

18 ก.ค. 2566

'โอไมครอน EG.5.1' เสี่ยงระบาดในไทยมากแค่ไหน เปิดข้อมูล 7 ปัจจัย ค่าความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ

การระบาดของ โควิด ยังไม่สิ้นสุด ยังคงมีการกลายพันธุ์ออกมาเป็น สายพันธุ์ย่อย อยู่เรื่อยๆ โดยทาง ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดข้อมูล จำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจาก โควิด19 ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นตั้งแต่ เดือน มี.ค. 2566 ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าส่วนหนึ่งมาจากการระบาดของ 'โอไมครอน EG.5.1'

 

 

ในขณะที่ประเทศไทยพบโอไมครอน EG.5.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage)  สูงกว่า XBB.1.16 เพียง 1 % ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

 

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีการระบาด 'โอไมครอน EG.5.1' ไปทั่วโลกเป็นอันดับ 3 ใน 4 อันดับหลักคือ XBB.1.16, XBB.1.5, EG.5.1 (XBB.1.9.2.5.1), และ XBB.1.9.1  

 

 

ความชุกของ 'โอไมครอน EG.5.1' ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันโดยตรวจจากจำนวนรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมที่ปรากฏในฐานข้อมูลโควิดโลก จีเสส (GISAID) ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาสูงที่สุด คือ 

 

  • ประเทศจีน 985 ราย หรือประมาณ 7.228% จากโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ที่พบในประเทศจีน 
  • ในอาเซียนสูงสุด คือ ประเทศสิงคโปร์ 58 ราย หรือประมาณ 1.567% จากโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ที่พบในประเทศสิงคโปร์ 
  • ประเทศไทยพบ 6 ราย หรือประมาณ 0.336% จากโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ที่พบในประเทศไทย
  • ทั่วโลกพบว่าโอไมครอน EG.5.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) สูงกว่า XBB.1.16 ประมาณ 42 %
  • ในประเทศจีนพบว่าโอไมครอน EG.5.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 ประมาณ 45 %
  • ประเทศสิงคโปร์พบโอไมครอน EG.5.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 ถึง 77 %

 

สำหรับประเทศไทยโชคดีพบ โอไมครอน EG.5.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 เพียง 1 % ทำให้โอกาสที่ โอไมครอน EG.5.1 จะมาแทนที่ XBB.1.16 มีน้อย

 

ความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ประเมินจากสองปัจจัยหลักคือ ความสามารถในการติดต่อ (increased transmissibility) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสามารถของส่วนหนามของไวรัสเข้าจับกับผิวเซลล์ผู้ติดเชื้อ และความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน (evade immunity) 

 

 

โดยมีหลายปัจจัยที่ทำให้ โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย ในแต่ละประเทศมีค่าความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดที่แตกต่างกัน เช่น

  • ประเภทของสายพันธุ์ย่อยที่แพร่ระบาดในประเทศนั้นๆ
  • ช่วงเวลาที่คำนวณ
  • อายุเฉลี่ยของประชากร
  • อัตราผู้เข้าฉีดวัคซีนครบโดส รวมทั้งการรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
  • วินัยของประชาชนในการใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การตรวจ ATK
  • ประสิทธิภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุขในการเข้าถึงประชากรทุกครัวเรือน
  • ฯลฯ

 

 

'โอไมครอน EG.5.1' แม้จะจะมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้สูงกว่า XBB.1.16 แต่ ความสามารถของส่วนหนามของ EG.5.1 เข้าจับกับผิวเซลล์ผู้ติดเชื้อได้น้อยกว่า XBB.1.16 ทำให้พบว่าโอไมครอน EG.5.1 จากทั่วโลกมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดเฉลี่ยสูงกว่า XBB.1.16 ประมาณ 42 % หรือเพิ่มขึ้นเพียง 1.42-เท่า ในขณะที่ประเทศไทยพบโอไมครอน EG.5.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) สูงกว่า XBB.1.16 เพียง 1 % หรือ 1.01 เท่า 

 

 

ดังนั้นจึงพอสรุปได้จากรหัสพันธุกรรมของ 'โอไมครอน EG.5.1' ว่าในประเทศไทยการระบาดของ EG.5.1 ไม่น่าจะรุนแรงแตกต่างไปจาก XBB.1.16 อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดีระยะนี้ควรเฝ้าติดตาม โอมิครอน EG.5.1 ของเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด เพราะในประเทศสิงคโปร์ที่มีการระบาดของ EG.5.1 มาก และพบมีผู้ติดเชื้อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น

 

 

จากรายงานล่าสุด จำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจาก โควิด-19 ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นตั้งแต่ เดือน มี.ค. 2566 ระหว่างวันที่ 23-29 เม.ย. มีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 568 ราย โดย 15 รายถูกส่งไปยังหอผู้ป่วยหนัก (ICU) ในช่วงสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 2 ถึง 29 เม.ย. มีผู้ป่วย 47 รายเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู เพิ่มขึ้นจาก 43 รายในช่วงสามเดือนแรกของปี โดยสาธารณสุขสิงคโปร์เชื่อว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นไม่น่าจะเกินจำนวนเตียงที่โรงพยาบาลในสิงคโปร์สามารถรองรับได้