ชวนประชากรแฝง 7 แสนคนลงทะเบียนใช้ 'สิทธิบัตรทอง' ในกทม.
ด้วยประชากรแฝงใน กทม. ที่ยังประสบปัญหาการใช้ "สิทธิบัตรทอง" เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ทาง กทม. และ สปสช. จึงร่วมจัดระบบบริการรองรับดูแลการดูแลอย่างครบวงจร ทั้งระดับปฐมภูมิ ส่งต่อทุติยภูมิและตติยภูมิ พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายบริการ
รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าความร่วมมือกับ สปสช. ในครั้งนี้ จะทำให้มีคลินิกชุมชนอบอุ่นที่พร้อมจะรับลงทะเบียนและดูแล "สิทธิบัตรทอง" ที่เป็นประชากรแฝงราว 7 แสนคน ทั้งยังมีความร่วมมือจาก รพ.เอกชน 17 แห่ง ที่อยู่นอกระบบบัตรทองมาร่วมเป็นสถานพยาบาลรับส่งต่อ (มาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545) ให้กับประชากรกลุ่มนี้ด้วย ในกรณีที่คลินิกชุมชนอบอุ่นเกินศักยภาพที่จะให้บริการ ซึ่ง กทม. มีนโยบายด้านการรักษาพยาบาล 9 ด้าน เพื่อยกระดับสุขภาพให้ประชาชนรวมถึงประชากรแฝง เน้นในเรื่องการเข้าถึงสิทธิสุขภาพและบริการสุขภาพที่จำเป็น
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. ได้ประสานไปยังคลินิกชุมชนอบอุ่นกว่า 300 แห่ง ใน กทม. เพื่อรองรับประชากรแฝง 7 แสนคน เปิดให้เลือกเป็นหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลปฐมภูมิ โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง สำนักอนามัย เป็นหน่วยบริการประจำของท่าน หากเกินศักยภาพการดูแลก็จะการส่งต่อไปยัง รพ.รับส่งต่อ
ทั้งนี้ เพื่อให้มี รพ.รับส่งต่อเพียงพอต่อการรองรับดูแลอย่างมีคุณภาพ สปสช. ได้ประสานกับ รพ.เอกชน 17 แห่ง ที่ไม่ได้ร่วมให้บริการในระบบบัตรทอง มาร่วมเป็นสถานพยาบาลรับส่งต่อ ตามมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ โดยมีสายด่วน สปสช. 1330 ทำหน้าที่รับเรื่องจากเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลในการประสานหาเตียง ทำให้เกิดการขยายเตียงผู้ป่วยสิทธิบัตรทองฯ ใน กทม. กว่า 572 เตียง
"กทม. และ สปสช. ได้จัดระบบสุขภาพเพื่อประชากรแฝงใน กทม. แล้ว ประชาชนที่มีสิทธิบัตรทอง มาทำงานใน กทม. ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมา และยังไม่มีหน่วยบริการประจำในระบบบัตรทองฯ ให้รีบลงทะเบียนกับคลินิกชุมชนอบอุ่นที่อยู่ใกล้และเข้ารับบริการได้สะดวกโดยเร็ว เพื่อจะได้มั่นใจว่ามีระบบบริการสุขภาพรองรับในพื้นที่" เลขาธิการ สปสช. กล่าว
การลงทะเบียนคลินิกชุมชนอบอุ่น ใช้หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ 1.ผู้ที่ต้องการลงทะเบียนทำหนังสือรับรองตนเองได้ หรือ 2.หนังสือรับรองของเจ้าบ้าน หรือ 3.หนังสือรับรองของผู้นำชุมชน หรือ 4.หนังสือรับรองผู้ว่าจ้างหรือนายจ้าง หรือ 5.เอกสารหรือหลักฐานที่มีชื่อของผู้ประสงค์ลงทะเบียน เช่น ใบเสร็จค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่าที่พัก สัญญาเช่าที่พัก ฯลฯ
โดยลงทะเบียนได้ง่ายๆ ผ่าน 3 ช่องทาง
1.แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการ
2.ไลน์ OA สปสช. (พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso ในช่องเพิ่มเพื่อน) เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง
3.หรือติดต่อด้วยตนเอง ที่ ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (อาคารบี) ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ในวันเวลาราชการ หากไม่สะดวกสามารถ โทร.สายด่วน สปสช. 1330 ได้เช่นกัน