ข่าว

WHO เตือน เฝ้าระวังการระบาด 'โควิด' จาก 'น้ำเสีย' ชะลอการระบาดในอนาคต

WHO เตือน เฝ้าระวังการระบาด 'โควิด' จาก 'น้ำเสีย' ชะลอการระบาดในอนาคต

21 ก.ค. 2566

องค์การอนามัยโลก เตือน เฝ้าระวังการระบาด 'โควิด' จาก 'น้ำเสีย' กับการเฝ้าระวังจีโนมิกส์ เพื่อ ชะลอ หรือ ซื้อเวลา การระบาดในอนาคต

องค์การอนามัยโลก แนะนำให้ชาติสมาชิกเฝ้าระวังการระบาด โควิด-19 จาก 'น้ำเสีย' (Wastewater Surveillance) ผนวกกับการเฝ้าระวังจีโนมิกส์ (Genomic Surveillance) เพื่อ "ชะลอ" หรือ "ซื้อเวลา" การแพร่ระบาดของ 'โควิด' หรือ โรคอุบัติใหม่ ในอนาคต การระบาดใหญ่ไปทั่วโลก (Pandemic) ของโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อยืนยัน 768,237,788 คน เสียชีวิต 6,951,677 คน

 

เปรียบได้กับคลื่นยักษ์สึนามิที่พุ่งเข้าหาฝั่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีของมนุษย์ที่สามารถยับยั้งคลื่นสึนามิเข้ากระทบฝั่งได้ เช่นเดียวกับการระบาดของ 'โควิด' ที่เรายังไม่สามารถลดความรุนแรงของการระบาดของโรคลงได้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนหลายล้านคน แต่สามารถชะลอความรวดเร็วของการระบาดของ โควิด-19 ลงได้เพื่อให้ระบบการรักษาผู้ติดเชื้อในสถานพยาบาลของประเทศมีจำนวนเตียงและอุปกรณ์สำคัญ เช่นถังออกซิเจนรองรับผู้ป่วยได้พอเพียง ทำให้ลดการเจ็บป่วยที่รุนแรง และช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้เป็นจำนวนมาก

 

 

การชะลอหรือซื้อเวลา (delay or buy time) สำหรับการระบาดของ COVID-19 นั้นเกี่ยวข้องกับการใช้มาตรการและกลยุทธ์การป้องกันต่างๆ เพื่อชะลอการแพร่กระจายของไวรัสอันจะส่งผลให้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญ หนึ่งในมาตรการนั้นคือการเฝ้าระวังโควิด-19 จากน้ำเสีย

 

 

การตรวจหาโควิด-19 ใน 'น้ำเสีย' และการเฝ้าระวังจีโนมิกส์ในชุมชนจะชะลอหรือซื้อเวลาสำหรับการระบาดของ โควิด-19 เป็นวิธีที่ทางองค์การอนามัยโลกเห็นสมควรและแนะนำชาติสมาชิกดำเนินการเนื่องจากมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยป้องกันระบบการรักษาผู้ติดเชื้อในสถานพยาบาลของประเทศมิให้ล้มเหลว ลดภาระการเจ็บป่วยที่รุนแรง และช่วยรักษาชีวิตผู้คน

 

 

การเฝ้าระวัง โควิด-19 จาก 'น้ำเสีย' ได้กลายเป็นวิธีการติดตามการปรากฏอยู่และแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ในชุมชน ด้วยการวิเคราะห์สารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ที่ปะปนอยู่ในน้ำเสีย ซึ่งประชาชนได้ขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระไหลมารวมกันในบ่อบำบัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะได้รับข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับการไหลเวียนและการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ภายในชุมชนนั้นๆ เป็นเสมือนสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่จะมีผู้เจ็บป่วยและต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. ประมาณถึง 4-6 วัน (ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (US CDC))  

 

 

เป็นการชะลอหรือการซื้อเวลา (delay or buy time) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้มีเวลาเตรียมพร้อมและออกมาตรการเพื่อการลดหรือบรรเทาผลกระทบของการระบาด (outbreak) จากโควิด-19 

 

 

การเฝ้าระวังโควิด-19 จากน้ำเสียในต่างประเทศ

 

ระบบเฝ้าระวังน้ำเสียแห่งชาติ (National Wastewater Surveillance System: NWSS) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งพัฒนาโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC)  เป็นตัวอย่างการดำเนินการเฝ้าระวังการระบาดของ 'โควิด' จากน้ำเสียที่ประสบความสำเร็จ  NWSS ประสานงานและสร้างขีดความสามารถของประเทศในการติดตามการปรากฏขึ้นของโควิด-19 ในน้ำเสียที่รวบรวมจากบ่อบำบัดน้ำเสียในแหล่งชุมชนใหญ่ทั่วประเทศด้วยการตรวจจับไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยเทคนิค "Real-time PCR" หรือ "Quantitative PCR" ซึ่งบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของโควิด-19 (ผลบวก) พร้อมจำนวน (จำนวนไวรัส/มิลลิลิตร) ในตัวอย่างน้ำส่งตรวจ ทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถระบุแนวโน้มการระบาดได้ตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถดำเนินการป้องกันให้กับชุมชนนั้นอย่างมีประสิทธิภาพและเสริมข้อมูลการเฝ้าระวังอื่นๆ

 

นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการการเฝ้าระวังจีโนมิกส์ (Genomic Surveillance) อันเป็นการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของ ไวรัสโควิด-19 จากตัวอย่าง 'น้ำเสีย' ที่ผลการตรวจ Real-time PCR ให้ผลบวกร่วมด้วย ช่วยให้สามารถระบุชนิดของสายพันธุ์ทั้งเก่าและใหม่ที่ลดจำนวนลงหรือเพิ่มจำนวนขึ้นได้อย่างจำเพาะเจาะจง ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านสาธารณสุขได้อย่างเหมาะสม เช่น รณรงค์การฉีดวัคซีนและปรับระยะเวลาในการ ฉีดเข็มกระตุ้น การใช้ แอนติบอดีสำเร็จรูป และการใช้ยาต้านไวรัสในการรักษา เป็นต้น

 

 

การเฝ้าระวังโควิด-19 จากน้ำเสียในประเทศไทย

 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ และสำนักวิจัยโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินการโครงการนำร่องการเฝ้าระวัง โควิด-19 จากน้ำเสียที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ที่ประสบความสำเร็จ ด้วยตระหนักถึงศักยภาพของระบาดวิทยาจากน้ำเสีย สำนักวิจัยฯ ได้เก็บตัวอย่างน้ำเสียจากสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ มาตรวจ Real-time PCR ตัวอย่างที่ให้ผลเป็นบวก ถูกส่งมาตรวจรหัสพันธุกรรมด้วยเทคนิค MassArray Genotyping ที่ ศูนย์จีโนมฯ เพื่อติดตามแนวโน้มของโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ ที่ไหลเวียนและการแพร่กระจายอยู่ในชุมชนนั้น เพื่อสามารถวางแผนรับมือ และดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส

 

การควบรวมการเฝ้าระวังจีโนมิกส์ของโควิดเข้ากับการเฝ้าระวังน้ำเสียในประเทศไทยจะทำให้ได้ข้อมูลที่มีค่าเกี่ยวกับความชุกของไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนความพยายามของประเทศในการติดตามและจัดการภูมิทัศน์ทางระบาดวิทยาที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อการป้องกัน และรักษา ประชากรไทย ซึ่งดำเนินการได้ดีในระดับหนึ่ง สังเกตจากข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 20/7/2566 

 

  • ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยัน 4,754,228 คน เสียชีวิต 34,410 คน  คิดเป็นร้อยละ 0.72
  • ประเทศสเปน มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยัน 13,980,340 คน เสียชีวิต 121,853  คน  คิดเป็นร้อยละ 0.87
  • ประเทศอังกฤษ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยัน 24,641,596 คน เสียชีวิต 228,144 คน  คิดเป็นร้อยละ 0.92
  • ประเทศสหรัฐ อเมริกา มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยัน  103,436,829 คน เสียชีวิต 1,127,152 คน  คิดเป็นร้อยละ 1.08
  • ประเทศอินเดีย มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยัน 44,994,995 คน  เสียชีวิต 531,915 คน คิดเป็นร้อยละ 1.18

 

 

การเฝ้าระวังโรคติดเชื้อจากน้ำเสียสามารถใช้เพื่อเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้ด้วย เช่น โรคโปลิโอ ไข้หวัดใหญ่ โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบจากไวรัส เชื้อโรคที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพ โรคจากอาหารปนเปื้อนจุลชีพ เช่น โนโรไวรัส เชื้อซัลโมเนลลา คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ แคมพิโลแบคเตอร์ สแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส อหิวาตกโรค และโรคฝีดาษลิง ฯลฯ สามารถติดตามได้ผ่านการเฝ้าระวังน้ำเสียได้ดีเช่นกัน วิธีการนี้มีคุณค่าในระดับประชากรเกี่ยวกับความชุกและแนวโน้มการเกิดโรคติดเชื้อในชุมชน ซึ่งช่วยเสริมกลยุทธ์การตรวจหาและตอบสนองต่อโรคเหล่านี้ตั้งแต่เนิ่นๆ

 

 

ความแตกต่างระหว่างการเฝ้าระวัง โควิด-19 ทางคลินิกและการเฝ้าระวังโควิด-19 จากน้ำเสีย

 

การเฝ้าระวังทางคลินิกและการเฝ้าระวังจาก 'น้ำเสีย' มีความแตกต่างกันในหลายด้าน การเฝ้าระวังทางคลินิกมุ่งเน้นไปที่การตรวจหาหรือการถอดรหัสสารพันธุกรรมของไวรัสหรือจุลชีพจากผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาลโดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกลายพันธุ์และความหลากหลายทางพันธุกรรมในบุคคลติดเชื้อก่อโรคที่มีอาการรุนแรง  ในทางตรงกันข้าม การเฝ้าระวังน้ำเสียให้มุมมองระดับชุมชนของความชุกและแนวโน้มของไวรัสหรือจุลชีพจากบุคคลที่ยังไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรงที่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล การรวมข้อมูลจากทั้งสองวิธี (การเฝ้าระวังทางคลินิกและการเฝ้าระวังจากน้ำเสีย) ทำให้เกิดความเข้าใจที่ครอบคลุมมากขึ้นเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโรค ทั้งสายพันธุ์ที่ไม่แสดงอาการหรือก่อโรค และสายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรง  

 

 

ความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวในการเฝ้าระวังจีโนมของน้ำเสีย

 

ความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวเกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังจีโนมของน้ำเสีย การถอดรหัสพันธุกรรมดีเอ็นเอจากน้ำเสียอาจมีดีเอ็นเอของประชาชนในชุมชุนปะปนอยู่ ซึ่งจากรหัสพันธุกรรมที่ถอดออกมาได้อาจสามารถใช้ระบุตัวบุคคลได้จากตัวอย่างน้ำเสีย เมื่อนำไปเชื่อมโยงกับชุดข้อมูลอื่นๆ อาจทำให้ความเป็นส่วนตัวลดลง การเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับตัวบุคคล การระบุว่าผู้ใด หรือกลุ่มใดในชุมชนติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใดอาจก่อให้เกิดการตีตราทางสังคม (social stigma) ได้ ดังนั้นการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้มงวด

 

 

การชะลอหรือซื้อเวลาการระบาด (delay or  buy time) ประเภทอื่นๆ  เช่น

 

1. การใช้มาตรการด้านสาธารณสุข : บังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุข เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และการส่งเสริมสุขอนามัยของมือ เช่นการล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง มาตรการเหล่านี้ช่วยลดการแพร่กระจายของไวรัสและชะลอการแพร่ระบาดภายในชุมชน

 

2. การทดสอบและการติดตามผู้สัมผัส : เพิ่มขีดความสามารถในการทดสอบและติดตามผู้สัมผัสของผู้ติดเชื้อ อย่างมีประสิทธิภาพ การทดสอบและการติดตามผู้สัมผัสอย่างทันท่วงทีช่วยระบุและแยกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ป้องกันการแพร่เชื้อเพิ่มเติมและซื้อเวลาในการดำเนินการแทรกแซงอื่นๆ

 

3. แคมเปญการฉีดวัคซีน : เร่งความพยายามในการฉีดวัคซีนเพื่อให้ครอบคลุมประชากรโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเด็กเล็ก การฉีดวัคซีนมีบทบาทสำคัญในการลดการเจ็บป่วยที่รุนแรง การรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิต การให้วัคซีนแก่คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จะช่วยลดผลกระทบของการระบาดอย่างมีนัยยสำคัญ และสามารถซื้อเวลาเพื่อควบคุมการแพร่กระจายได้

 

4. การจำกัดการเดินทางและการควบคุมชายแดน : ใช้มาตรการจำกัดการเดินทางและการควบคุมชายแดนเพื่อจำกัดการเข้ามาของไวรัสจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง มาตรการเหล่านี้ช่วยชะลอการเกิดผู้ป่วยรายใหม่และซื้อเวลาในการเสริมสร้างความพร้อมและการตอบสนองของระบบการรักษาพยาบาลในท้องถิ่น

 

5. การเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนให้เกิดการตระหนักรู้ด้านสาธารณสุขที่ถูกต้องในการป้องกัน ดูแล และรักษาโรคโควิด-19 (COVID-19 health literacy) : สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันแก่สาธารณชนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับโควิด-19 การแพร่เชื้อ และมาตรการป้องกัน ส่งเสริมการรับรู้และการศึกษาของชุมชนเพื่อให้แน่ใจว่าปฏิบัติตามแนวทางด้านสาธารณสุขอันสามารถชะลอการระบาดของโรคได้อย่างมาก 

 

6. เสริมสร้างศักยภาพของระบบสุขภาพทั้งระบบ : เช่นการเพิ่มห้องความดันลบในโรงพยาบาล เพิ่มศูนย์ตรวจ PCR จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่นถังออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยโควิดให้พอเพียง ลงทุนปรับปรุงทั้งปริมาณและคุณภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่จะระบาดในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะเกิดถี่ขึ้นสิ่งนี้ช่วยให้สามารถจัดการโรคระบาดได้ดีขึ้น ลดความตึงเครียดในสถานพยาบาล และมีเวลามากขึ้นในการตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ

 

7. การวิจัยและพัฒนา : สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยด้วยตนเองหรือผ่านห้องปฏิบัติการ การผลิตวัคซีนให้ได้ภายในประเทศเพื่อการป้องกัน ทดสอบสมุนไพร ยาต้านไวรัส และแอนติบอดีสำเร็จรูป เพื่อการรักษา  การลงทุนในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สามารถช่วยเร่งปรับปรุงผลลัพธ์ในการป้องกันและรักษาผู้ป่วยและสามารถซื้อเวลาในการควบคุมการระบาดโควิด-19  

 

8. การสนับสนุนทางสังคมและเศรษฐกิจ : ให้การสนับสนุนบุคคลและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด มาตรการต่างๆ เช่น ความช่วยเหลือทางการเงิน การคุ้มครองงาน และเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและช่วยให้บุคคลสามารถปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขโดยไม่ต้องเผชิญกับความยากลำบากที่เกินควร

 

 

การใช้กลยุทธ์เหล่านี้ร่วมกันและปฏิบัติตามแนวทางด้านสาธารณสุขในชุมชนจะสามารถชะลอหรือซื้อเวลาสำหรับการระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ได้อย่างมีนัยสำคัญ แนวทางนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันระบบการรักษาพยาบาลไม่ให้ล้มเหลว ลดภาระการเจ็บป่วยที่รุนแรง และช่วยชีวิตประชากรได้อย่างมาก