'นักวิชาการ' ประสานเสียง 'ฟ้าทะลายโจร' กินได้ไม่มีผลต่อ 'ตับ'
'นักวิชาการ' ประสานเสียง 'ฟ้าทะลายโจร' กินรักษา 'โควิด-19' ไม่มีผลต่อ 'ตับ' ย้ำประชาชนสบายใจได้ แนะอย่าตัดสิน 'ฟ้าทะลายโจร' ด้วยงานวิจัยเดียว
21 ก.ค. 2566 จากกรณี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดผลวิจัย "กรณีศึกษาชุดโครงการประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย"
โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างในจังหวัดสระบุรี และปราจีนบุรี พบยาฟ้าทะลายโจร ไม่สามารถลดอัตราการเกิดปอดอักเสบหรือลดอาการ และลดปริมาณเชื้อไวรัสได้ สร้างความสับสนให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดเวทีประชุมวิชาการ “สมุนไพรฟ้าทะลายโจรกับการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมได้แก่ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ นพ.ธนะวัฒน์ วงศ์ผัน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตราด ศ.เกียรติคุณพญ.สยมพร ศิรินาวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและระบาดวิทยาคลินิก ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานกรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทย มูลนิธิรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร รศ.ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายธุรการวิทยาศาสตร์ ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และดร.ภญ.วิวรรณ วรกุลพาณิชย์ เภสัชกรชำนาญการ กองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทยฯ โดยมี นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นพ.ธนวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวตนดำรงตำแหน่ง รองนพ.สสจ.สระบุรี ซึ่งเป็นผู้วิจัยในโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. โดยยืนยันว่า การศึกษาดังกล่าว อยู่ภายใต้กระบวนการวิจัยทางคลินิกที่เป็นตามมาตรฐานสากล มีการเลือกผู้ป่วยเข้าโครงการวิจัย โดย จ.สระบุรี มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ 396 คน จ.ปราจีนบุรี 271 คน และมีวิธีการเก็บข้อมูลเหมือนกัน แต่มีการใช้รูปแบบยาที่ต่างกัน โดย จ.สระบุรี ใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจร ส่วน จ.ปราจีนบุรี ใช้ยาแคปซูลผงบดฟ้าทะลายโจร ที่มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 5 วัน ส่งผลให้เกิดค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น จึงได้หยุดเก็บข้อมูลพร้อมเสนอให้มีคำเตือนในกรณีที่ใช้ยาฟ้าทะลายโจรควบคู่กับยาชนิดอื่นอาจส่งผลให้เอนไซม์ตับสูงขึ้นได้ ซึ่งยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมทั้งความปลอดภัยและประโยชน์ เพื่อให้เกิดการใช้ที่เหมาะสมต่อไป
ภญ.ดร.ผกากรอง กล่าวว่า รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศ ได้เก็บข้อมูลผู้ป่วยโควิดอายุ 30-31 ปี ที่ใช้ยาฟ้าทะลายโจรผงบดหยาบในการรักษาตั้งแต่ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนมาแล้ว มีอาการน้อย จนถึงไม่มีอาการ ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรมีความปลอดภัยสูง และสิ่งที่มีคุณค่าสามารถนำไปสานต่อได้คือการดูพลาสม่าในเลือดผู้ป่วยพบว่า ฟ้าทะลายโจรสามารถลดกระบวนการอักเสบในร่างกาย แม้ว่าค่าตับจะเพิ่มขึ้นในช่วงการให้ยา ซึ่งพบทั้งในกลุ่มที่ได้ฟ้าทะลายโจรและยาหลอก แต่พอหยุดยาค่าตับก็กลับมาเป็นปกติ
ภญ.ดร.ผกากรอง ระบุว่า ที่บอกว่าตับพังไม่จริง ในทางคลินิกเราต้องดูบริบทอื่นด้วย เช่น ยาที่ผู้ป่วยที่ได้รับ เพราะในการศึกษาเราก็ให้ยาอื่นๆ เพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้ จากการศึกษาเพิ่มเติมโดยเภสัชกร มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้เทคนิคโปรติโอมิกส์พบว่า สามารถลดการเกิดลิ่มเลือดได้ด้วย จากบทเรียนที่ผ่านมา จึงอยากนำเสนอว่า งานวิจัยของประเทศไทยต่อไปต้องเร่งสปีดมากขึ้นเนื่องจากสายพันธุ์ไวรัสเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
ดร.วิวรรณ กล่าวว่า จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบทั้งในและต่างประเทศ พบว่า ผู้ที่ใช้ฟ้าทะลายโจรมีความปลอดภัยสูง และไม่มีรายงานที่ร้ายแรงเลย อันตรายที่อาจพบได้จากการใช้ฟ้าทะลายโจร ที่ผู้ป่วยต้องสังเกตคือการแพ้ ที่มีรายงานอยู่บ้างดังนั้นในผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ จากข้อมูลที่รวบรวมมาจากงานวิจัย 10 ชิ้นและฐานข้อมูล 3 ฐาน พบว่า อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง 1 แสนคน พบได้ 2 ราย ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับยาต้านไวรัสแผนปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่
รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวว่า สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ทำการศึกษาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในทุกแง่มุม ในการใช้ต่อผู้ป่วยทั้งผงบด และสารสกัด มีงานวิจัยถึง 15 ฉบับ รวมถึงได้ศึกษางานวิจัยจากทั่วโลกอีกนับพันฉบับ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ไม่พบว่าฟ้าทะลายโจรมีพิษต่อตับ จะมีเพียงในสแกนดิเนเวียน ที่เตือนให้ระวัง แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลอย่างเป็นระบบก็พบว่าประโยชน์มากกว่าโทษแน่นอน เรามีของดีอยู่แล้ว ถ้าเราใช้เป็นก็จะเป็นประโยชน์ อยากฝากไว้ว่า งานวิจัยก็ตอบแค่คำถามวิจัย แต่การนำมาใช้จริงต้องนึกถึงหลายปัจจัย เช่น ในกรณีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด ที่เขาไม่มีเงิน ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นยาที่เข้าถึงได้ง่ายราคาถูกและได้ผล ยาที่กินเข้าไปเรารู้กันอยู่แล้วว่ามันมีผลต่อร่างกายทั้งบวกและลบ แต่ถ้าประโยชน์มากกว่า ใช้อย่างเหมาะสมก็ไม่ต้องกังวล และต้องมีการศึกษายาที่ใช้ควบคู่กับฟ้าทะลายโจรด้วย ว่าส่งผลต่อค่าตับด้วยไหมและสื่อสารทั้งสองด้าน
ด้าน ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ได้ยกตัวอย่างกรณีของน้ำลูกยอ หรือ โนนิ ที่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว สมุนไพรพื้นบ้านธรรมดา สามารถสร้างมูลค่าในตลาดโลกได้ถึงปีละ 2,300 ล้านบาท อัตราเติบโต 7.1% แต่เมื่อมีการให้สัมภาษณ์ของผู้ใหญ่ในแวดวงสาธารณสุขท่านหนึ่งว่า กินยอแล้วไตวาย โดยพูดความจริงไม่หมด ว่าผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตไม่ดี การกินน้ำลูกยอที่มีโปรแทสเซียมสูงอย่างลูกยอ กล้วย ส้ม อาจทำให้การทำงานของไตลดลง การพูดสั้นๆ แบบนี้ส่งผลให้ตลาดน้ำลูกยอตายสนิท ทั้งที่ปู่ย่าตายายกินกันมานับร้อยปี จึงไม่อยากให้เกิดเหตาการณ์ดังกล่าวกับฟ้าทะลายโจรอีก งานวิจัยที่เผยแพร่ออกมา มีการใช้ยาฟ้าทะลายโจรกับคนไข้ที่ไม่มีอาการถึง 25% ยาจะไปช่วยลดอาการอะไร ส่วนเรื่องของตับมันมีหลายปัจจัย
“โดยส่วนตัวรู้สึกเจ็บปวด เพราะอยู่กับฟ้าทะลายโจรมานานและใช้กับผู้ป่วยมาตั้งแต่ ไข้หวัดสายพันธุ์ 2009 ,อีโบร่า ไม่ว่าจะเกิดโรคอุบัติใหม่อะไรที่เกี่ยวข้องกับไวรัส ฟ้าทะลายโจรจะถูกนำมาใช้หมด จึงได้เริ่มศึกษาวิจัย ทบทวนวรรณกรรมจากทั่วโลก และใช้ประสบการณ์ส่วนตัวที่คลุกคลีกับชาวบ้านที่ใช้มาโดยตลอด ในช่วงที่เกิดโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มีวัคซีนตนเองก็ได้รวบรวมข้อมูลเสนอให้โรงพยาบาลนำฟ้าทะลายโจรมาใช้ เมื่อเปรียบเทียบกับราคายาแผนปัจจุบันพบว่ามันต่างกันมากจริงๆ ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ราคา 80-150 บาท/คอร์สการรักษา ส่วนแผนปัจจุบันมี ฟาวิพิราเวียร์ ราคา 2,000-5,000 บาท/คอร์สการรักษา ถ้าเรารวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบและนำมาใช้ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศได้มากทีเดียว” ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าว
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาสายพันธุ์ฟ้าทะลายโจรในประเทศไทย ซึ่งพบว่ามีหลายสายพันธุ์มากและเรากำลังจะเป็นเจ้ายุทธจักรในเรื่องนี้ ที่ผ่านมามีการทำวิจัยในหลายแขนง ทั้งในเรื่องภูมิคุ้มกัน และลดปอดอักเสบจากคนไข้ในช่วงที่ไม่ได้วัคซีนที่คนไข้รอตรวจ รอเตียง รอตาย ชาวบ้านที่เข้าไม่ถึงยาก็คว้าฟ้าทะลายโจรมารักษาและก็ช่วยได้จริง เชื่อว่าวันนี้มีคนไข้จำนวนมากที่สามารถแชร์ประสบการณ์ดังกล่าวให้เราได้ จากประสบการณ์ของอภัยภูเบศรที่สนับสนุนยาฟ้าทะลายโจรในช่วงสถานการณ์โควิด ก็ไม่มีใครเสียชีวิต โดยส่วนตัวจึงขอสรุปว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นอาวุธของประชาชน ในการรับมือโรคอุบัติใหม่
ขณะที่ ศ.เกียรติคุณพญ.สยมพร กล่าวเตือนว่าคนที่มีความรู้ มีปัญญา อย่าไปตัดสินใครในงานวิจัยเพียงชิ้นเดียว ใครบอกอะไรอย่าไปเชื่อในทันที เพราะกระบวนการวิจัยมีขั้นตอนอยู่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การตั้งคำถามซึ่งเป็นจุดตั้งต้นในการทำวิจัย หลังจากนั้นการออกแบบการวิจัยเพื่อมาตอบโจทย์ก็ต้องเหมาะสม ตัวอย่างในงานวิจัยนี้ เราสนใจความปลอดภัยของตับ ดังนั้นเราควรดูว่ามีผู้ป่วยกี่รายที่ได้ยาแล้วค่าเอนไซม์สูงกว่ามาตรฐาน และมีกี่รายที่มีอาการที่แสดงถึงความผิดปกติของตับ ซึ่งมีความเหมาะสมมากกว่าที่จะไปนำค่าเอนไซม์ตับมาหารเฉลี่ยกัน เพราะในทางคลินิกเรารู้กันอยู่ว่าค่าตับมันขึ้นๆ ลงๆได้ แต่ควรต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ประเด็นการนำไปใช้ต้องมีคำแนะนำที่เหมาะสมกับบริบท จะมาบอกว่าอย่าใช้เลยไม่มีประโยชน์ไม่ได้ เพราะในทางปฏิบัติผู้ป่วยก็มีอาการแตกต่างกันไป การวิจัยก่อนหน้าก็บอกว่าใช้บรรเทาอาการ ลดความรุนแรงได้ แล้วเราจะปิดกั้นการใช้ประโยชน์ของผู้ป่วยจากผลของการวิจัยเดียว เช่นนี้หรือ ส่วนตัวแล้วทำงานวิจัยมามาก เราดูข้อมูลครบถ้วนและสื่อสารชัดเจน
อธิบดีกรมแพทย์แผนไทยฯ แถลงภายหลังการประชุมว่า วันนี้ประเทศไทยไม่มีใครไม่รู้จักฟ้าทะลายโจร จึงเกิดคำถามมาที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ เราพยายามให้ข้อมูลย้อนกลับให้เร็ว แต่เนื่องจากเป็นเรื่องงานวิจัยที่มีความซับซ้อนและแต่ละงานวิจัยมีคำถามเฉพาะ ดังนั้นเราจึงต้องประมวลผลงานวิจัยหลายชิ้นมาประกอบการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า ข้อเท็จจริงที่มีอยู่วันนี้เป็นอย่างไร ขอยืนยันว่าฟ้าทะลายโจรยังใช้ได้ดี ไม่เฉพาะรักษาโรคโควิด 19 เท่านั้น แต่ยังใช้ได้ในไข้หวัดใหญ่และหลายโรคที่เกี่ยวข้อง
ข้อแนะนำวันนี้คือ ฟ้าทะลายโจรเป็นทางออกให้ได้ ส่วนที่ผลงานวิจัยออกมาว่าไม่ได้ผลนั้น ถ้าดูจากงานวิจัยการบอกว่าได้ผลหรือไม่ได้ผล ขึ้นกับการออกแบบงานวิจัยและระยะเวลาที่ทำงานวิจัย และบริบทการทำวิจัยขณะนั้น บริบทงานวิจัยชิ้นนี้ที่บอกว่าไม่ได้ผล เพราะได้วัคซีนมาไม่ต่ำกว่า 2-3 เข็ม แล้ว คนได้รับวัคซีนเยอะแล้วมีผลช่วยลดความรุนแรงและมาถึงวันนี้เปิดประเทศ ดำเนินชีวิตประจำวันได้ พอเป็นอย่างนั้น การบอกว่าได้ผลหรือไม่ได้ผล โดยใช้การวัดที่เกิดปอดอักเสบอย่างเดียว น่าจะเป็นการวัดที่ไม่เพียงพอในการตอบคำถาม