คนติดยาเสพติดแนวโน้มสูงขึ้น รุกเปิดศูนย์บำบัดระดับตำบลหมื่นแห่ง
ผู้ป่วยติดยาเสพติดมีแนวโน้มสูงขึ้น คณะอนุกรรมการระบบบำบัด ฟื้นฟูฯ ตั้งหน่วยคัดกรองรุกถึงระดับตำบลได้แล้วเกือบหมื่นแห่ง และเปิด "มินิธัญญารักษ์" รักษาระยะยาวอีก 40 แห่ง เพื่อลดความแออัด
"นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า ผู้ป่วยติดยาเสพติดที่ต้องเข้ารับการ "บำบัดฟื้นฟู" มีแนวโน้มสูงขึ้น ปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด จึงต้องดำเนินงานเข้าไปในพื้นที่ระดับชุมชน ปัจจุบันสามารถตั้งหน่วยบริการศูนย์คัดกรองแล้ว 9,826 แห่ง
แบ่งเป็นในสังกัด สธ. 6,615 แห่ง อปท. 3,184 แห่ง สถานพยาบาลยาเสพติด 1,078 แห่ง บูรณาการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (CBTx) ครอบคลุมทุกตำบล 8,687 ชุมชน จัดบริการหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติด ในโรงพยาบาลศูนย์, โรงพยาบาลทั่วไป สังกัด สธ. ครอบคลุมทุกจังหวัด และโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต รวม 5,617 แห่ง จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนแล้ว 439 แห่ง
"นพ.โอภาส" บอกต่ออีกว่า เพื่อลดความแออัดผู้เข้า "บำบัดฟื้นฟู" และเพิ่มการเข้าถึงสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพระยะยาวในโรงพยาบาลเฉพาะทาง รองรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ดำเนินการแล้ว 40 แห่ง ใน 25 จังหวัด
พร้อมขึ้นทะเบียนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 3,132 แห่ง สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทุกจังหวัด 140 แห่ง พร้อมทั้งสร้างมาตรการควบคุม ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และพัฒนาระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ
ปฏิบัติการทั้งหมดนี้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สธ. กองทัพไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กรมการปกครอง กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ ในนาม "คณะอนุกรรมการระบบบำบัด ฟื้นฟู ติดตามผู้ติดยาเสพติด"