ข่าว

'ไวรัสซิกา' ระบาด 20 จังหวัด ป่วยแล้ว 110 ราย ห่วง หญิงตั้งครรภ์ ติดเชื้อ

'ไวรัสซิกา' ระบาด 20 จังหวัด ป่วยแล้ว 110 ราย ห่วง หญิงตั้งครรภ์ ติดเชื้อ

27 ก.ค. 2566

'ไวรัสซิกา' ระบาดหนัก 20 จังหวัด ไทยพบผู้ป่วยแล้ว 110 ราย หญิงตั้งครรภ์ ติดเชื้อ 6 ราย ห่วงมีผลแทรกซ้อนทำให้แท้ง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อ 'ไวรัสซิกา' ในประเทศไทย ว่า ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 19 ก.ค. 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 110 ราย ใน 20 จังหวัด แนวโน้มผู้ป่วยเริ่มสูงขึ้นช่วง เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา และสูงสุดใน เดือน มิ.ย. จำนวน 30 ราย 

 

 

ส่วน เดือน ก.ค. นี้ พบ หญิงตั้งครรภ์ ติดเชื้อแล้ว 6 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี 2 ราย พิษณุโลก ระยอง สมุทรสงคราม และตราด จังหวัดละ 1 ราย ซึ่งจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการแท้ง หรือทารกเกิดภาวะศีรษะเล็กได้ 

 

จากการติดตาม หญิงตั้งครรภ์ ติดเชื้อ 'ไวรัสซิกา' ตั้งแต่ปี 2559-2565 จำนวน 241 ราย พบมีการแท้ง 4 ราย เด็กที่คลอดมีภาวะศีรษะเล็กและมีผลบวกต่อ 'ไวรัสซิกา' 3 ราย และได้ติดตามพัฒนาการเด็กจนครบ 2 ปี จำนวน 77 ราย พบมีพัฒนาการผิดปกติ 4 ราย สำหรับการเฝ้าระวังทารกแรกคลอด 2,187 ราย พบความผิดปกติแต่กำเนิดที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสซิกา 15 ราย สามารถติดตามพัฒนาการจนครบ 2 ปี ได้ 4 ราย พบความผิดปกติด้านพัฒนาการถึง 3 ราย ขณะที่การเฝ้าระวังกลุ่มอาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย (Guillain Barre' syndrome : GBS) 145 ราย พบสัมพันธ์กับไวรัสซิกา 5 ราย

 

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ปีนี้เริ่มพบ หญิงตั้งครรภ์ ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้ว และยังพบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งหลายพื้นที่มีการระบาดของ โรคไข้เลือดออก ซึ่งมี ยุงลาย เป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกัน ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีผื่น และมีไข้/ปวดข้อ/ตาแดง (อย่างน้อย 1 อาการ) โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ในชุมชน หมู่บ้านที่พบผู้ป่วยยืนยัน ทารกคลอดที่มีศีรษะเล็ก และผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย ส่วนทารกคลอดที่มารดามีประวัติติดเชื้อไวรัสซิกา แม้ยังไม่พบความผิดปกติ ต้องติดตามประเมินพัฒนาการอย่างใกล้ชิดจนอายุครบ 2 ปี 

 

สำหรับจังหวัดที่พบผู้ป่วย ให้ดำเนินมาตรการเข้มข้น ทั้งการเฝ้าระวัง สอบสวนควบคุมโรค เพื่อลดจำนวนยุงพาหะ โดยเฉพาะอำเภอที่พบผู้ป่วยและมีหญิงตั้งครรภ์ ให้ อสม. ช่วยแจ้งเตือน หญิงตั้งครรภ์ ให้ป้องกันยุงกัด อาจใช้ยาทากันยุง และร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ ยุงลาย ในบ้านเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะบ้านที่มีหญิงตั้งครรภ์ และชุมชนโดยรอบให้กำจัดยุงตัวแก่ทุกสัปดาห์ จนครบ 4 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งโรคติดเชื้อ 'ไวรัสซิกา' โรคไข้เลือดออก และ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ได้ด้วย