พุทธศาสนิกชน ร่วมตักบาตรทางริมแม่น้ำสะแกกรัง รับรุ่งอรุณ 'วันเข้าพรรษา'
นักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนชาวอุทัยธานี ร่วมทำบุญตักบาตรทางน้ำในแม่น้ำสะแกกรัง รับรุ่งอรุณ "วันเข้าพรรษา" ก่อนเดินเที่ยวเดินชมตลาดเช้าริมน้ำ พร้อมล่องเรือสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนชาวแพในแม่น้ำสะแกกรัง
2 ส.ค.2566 บรรยากาศนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนชาวอุทัยธานี ร่วมกันทำบุญตักบาตรทางน้ำในแม่น้ำสะแกกรัง รับรุ่งอรุณวันเข้าพรรษา ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะเดินเที่ยวชุมชน ชมมนต์เสน่ห์ตลาดเช้าริมน้ำพร้อมล่องเรือสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนชาวแพอย่างประทับใจ
และวันนี้ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา และเป็นวันหยุดยาวต่อเนื่อง ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนจังหวัดอุทัยธานี และพักค้างคืนในพื้นที่ จ.อุทัยธานี จนที่พัก โรงแรม และโฮมสเตย์ ถูกจองเต็มไปหมดเกือบทุกแห่ง และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากตื่นมาตั้งแต่เช้าตรู่มาที่ริมแม่น้ำสะแกกรัง บริเวณลานสะแกกรัง บริเวณตลาดสดเทศบาลเมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี
ซึ่งบรรยากาศในเช้าวันนี้ ซึ่งตรงกับวันพรรษา มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวใช้โอกาสวันเข้าพรรษาในเช้าวันนี้ ไปที่บริเวณที่บริเวณแพท่าน้ำ ริมแม่น้ำสะแกกรังฝั่งตรงข้ามวัดอุโปสถาราม หรือวัดโบสถ์ โบราณสถานและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ จ.อุทัยธานี เพื่อทำบุญตักบาตรคาวหวาน แด่พระภิกษุสงฆ์ที่พายเรือจากวัดอุโปสถารามข้ามฝั่งมาที่แพท่าน้ำเพื่อรับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยว ได้ทำบุญตักบาตรอาหารคาวหวาน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อความเป็นสิริมงคล ในวันเข้าพรรษากันอย่างอิ่มบุญและชื่นมื่น
โดยแพท่าน้ำริมแม่น้ำสะแกกรังแห่งนี้ ทางเทศบาลเมืองอุทัยธานี ได้จัดให้เป็นสถานที่บุญตักบาตรทางน้ำ รองรับนักท่องเที่ยวและประชาชน พุทธศาสนิกชนชาวอุทัยธานี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนเมืองอุทัยธานีแล้วได้มีโอกาสทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคลร่วมกับชาวอุทัยธานี โดยสามารถทำบุญตักบาตรทางน้ำได้ในเช้ารับรุ่งอรุณ ในเวลา 07.00 น. ของทุกวัน
หลังทำบุญตักบาตรทางน้ำแล้ว นักท่องเที่ยวจะเดินเที่ยวชมมนต์เสน่ห์ของตลาดเช้าริมแม่น้ำสะแกกรังที่พ่อค้า แม่ค้า นำพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษหลากหลายชนิดและปลาชนิดต่างๆ ที่ชาวบ้านจับมาได้จากแม่น้ำสะแกกรังและนำมาวางขายตามวิถีดั้งเดิม
พร้อมล่องเรือสัมผัสวิถีชุมชนชาวเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตของชาวชุมชนชาวแพ ยังคงอัตลักษณ์เช่นเดิมและมีชุมชนชาวแพ ที่พักอาศัยในเรือนแพกว่า 200 หลัง และนับว่าเป็นแห่งสุดท้ายของประเทศไทยอีกด้วย
สามสอ จันทรักษ์ จ.อุทัยธานี