อย่ามองข้าม 'ฝีดาษลิง' ระบาดอีกครั้ง ไทยอยู่อันดับที่เห็นแล้วต้องร้องโอ้!
"ฝีดาษลิง" หรือชื่อใหม่ "ฝีดาษ Mpox" กลับมาระบาดทั่วโลกอีกครั้งรวม 90,000 ราย พบมากสุดที่สหรัฐฯ ส่วนไทยมีรายงานแล้วมากถึง 120 ราย สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่พบในผู้ชาย 99% แพทย์เตือนการ์ดอย่าตกอาจระบาด
"ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ" หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยสถานการณ์ "โรคฝีดาษลิง" ในปัจจุบันว่า การระบาดทั่วโลกของฝีดาษลิง หรือที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ชื่อเรียกว่า "ฝีดาษ Mpox" พบผู้ป่วยรวม 90,000 ราย มากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา และเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากมีเทศกาลสำคัญเดือน มิ.ย.
สอดคล้องกับรายงานจาก "พญ.วรฉัตร เรสลี" อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศิครินทร์ บอกไว้ว่า สถานการณ์ "ฝีดาษ Mpox" ปี 2565 พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึง 500 ราย ภายในระยะเวลา 30 วัน ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ ร้อยละ 99 เป็นผู้ชาย มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อมา โดยติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์
สำหรับ "โรคฝีดาษลิง" ในไทยปีนี้ (ปี 2566) มีรายงานแล้วมากกว่า 120 ราย สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยอดผู้ป่วยในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
""ฝีดาษ Mpox" ในไทย 100 กว่ารายก็ไม่ได้น้อย และยังมีการพบประปรายอยู่ตลอด แต่ความตื่นตัว ของโรคนี้ในปัจจุบัน น้อยกว่าในระยะแรกๆ เราจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ความเข้าใจ การระบาดของโรคโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดการระบาดในประเทศไทย" "ศ.นพ.ยง" อธิบาย
"ฝีดาษ Mpox" เป็นโรคไม่รุนแรง จึงมีอัตราเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ร่วมด้วย
"ศ.นพ.ยง" บอกต่ออีกว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านระบาดวิทยา สำหรับโรคที่ไม่รุนแรง จะยากในการควบคุม ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีการตรวจกรองเฝ้าระวัง การดูแลรักษา และวัคซีนป้องกัน ได้ดีกว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนกว่า
แต่สิ่งที่ "ศ.นพ.ยง" เป็นกังวลคือ การลดการ์ดการตื่นตัวป้องกันโรคที่ต่ำลงในช่วงนี้อาจทำให้เกิดโรคระบาดได้
"อนาคตโรคนี้คงไม่หมดไป เพราะเกี่ยวข้องกับสัมผัส เพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในกลุ่มพิเศษ และจะยังคงมีการระบาดในประเทศที่ระบบสาธารณสุข ที่การควบคุม ป้องกัน และการศึกษา รวมทั้งวัคซีนในการป้องกันที่มีทรัพยากรน้อยกว่า" "ศ.นพ.ยง" ระบุ
สำหรับที่มาของการเปลี่ยนชื่อจาก "โรคฝีดาษลิง" WHO อธิบายว่า เพื่อไม่ต้องการให้ใช้ชื่อสัตว์ สถานที่ บุคคลมาตั้งชื่อ ให้เป็นตราบาป ดังเช่นถ้าเรียก "โรคฝีดาษลิง" ทุกคนจะไปโทษลิง ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาดครั้งนี้