ข่าว

เตือนภัย 'สายบุฟเฟต์' ระวังเพจปลอมหลอกโอนเงิน สำรองโต๊ะอาหาร

เตือนภัย 'สายบุฟเฟต์' ระวังเพจปลอมหลอกโอนเงิน สำรองโต๊ะอาหาร

06 ส.ค. 2566

เตือน 'สายบุฟเฟต์' ระวังภัยออนไลน์ มิจฉาชีพปลอม 'เพจโรงแรม-เพจร้านอาหารชื่อดัง' หลอกโอนเงินค่าสำรองโต๊ะอาหาร ระบาดหนักช่วงเทศกาลวันสำคัญ

ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. เตือนภัย 'สายบุฟเฟต์' หลังได้รับรายงานระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ พบผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินค่าสำรองโต๊ะอาหาร สำรอง 'บุฟเฟต์' (Buffet) ผ่านเพจเฟซบุ๊กของโรงแรม และร้านอาหารที่มีชื่อเสียงปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันสำคัญต่างๆ จะมีการหลอกลวงจัดโปรโมชันราคาพิเศษ หรือหากมาหลายท่านทานฟรี 1 ท่าน เป็นต้น 

 

ซึ่ง มิจฉาชีพ ยังคงใช้แผนประทุษกรรมเดิมๆ คือ สร้างเพจเฟซบุ๊กโรงแรม หรือร้านอาหารปลอมขึ้นมา หรือใช้เพจเฟซบุ๊กเดิมที่มีผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้ว ตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อบัญชีเพจให้เหมือนกับเพจจริงทุกตัวอักษร หรือใกล้เคียงกัน คัดลอกภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา และโปรโมชันต่างๆ จากเพจจริงมาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ  รวมถึงการใช้เทคนิคในการซื้อ หรือยิงโฆษณาเพื่อเข้าถึงเป้าหมายที่ค้นหาร้านอาหารให้พบ เพจปลอม เป็นอันดับแรกๆ หากไม่ทันสังเกตให้ดีก็จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หากผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้นได้แต่อย่างใด

 

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2566 - 31 ก.ค. 2566 การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ยังคงมีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 1 มีจำนวนกว่า 7,714 เรื่อง หรือคิดเป็น 49.09% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์เดือน ก.ค. 66 และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 140 ล้านบาท

 

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว 9 ข้อ ดังนี้

 

1. โรงแรม หรือ ร้านอาหาร ส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายโอนเงินไปยังบัญชีส่วนตัว หรือบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีธนาคารที่รับโอนเงินควรเป็นบัญชีชื่อโรงแรม หรือร้านอาหาร หรือบัญชีบริษัทเท่านั้น

 

2. ควรสำรองโต๊ะอาหารผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ

 

3. หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่

 

4. เพจจริงจะต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด รวมถึงไปถึงไลน์ทางการต้องเครื่องหมายโล่สีฟ้า หรือสีเขียวเช่นเดียวกัน (Verified Account)

 

5. เพจจริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

 

6. เพจปลอมมักจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน

 

7. ระมัดระวังการประกาศโฆษณาโปรโมชันต่างๆ

 

8. ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ สร้างมาเมื่อใด ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด

 

9. ขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อไปยังโรงแรม หรือร้านอาหารก่อนทำการโอนเงิน ว่าเพจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ หมายเลขบัญชีถูกต้องหรือไม่ หรือมีการปลอมแปลงเพจหรือไม่