ข่าว

ฝนถล่มแม่สอด ทำ 'ถนนทรุดตัว' หลายจุด กระทบค้าชายแดนไทย-เมียนมา

ฝนถล่มแม่สอด ทำ 'ถนนทรุดตัว' หลายจุด กระทบค้าชายแดนไทย-เมียนมา

08 ส.ค. 2566

ฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวันในเมียนมา ส่งผลให้ "ถนนทรุดตัว" หลายเส้นทางกระทบค้าชายแดน ส่วนที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ดินสไลด์ปิดเส้นทาง ครูต้องนำข้าวไปส่งให้นักเรียนกินนอนในโรงเรียน

8 ส.ค.2566   สถานการณ์ภัยพิบัติ ในพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ติดต่อกันหลายวัน ส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนทั้งสองฝั่งไทย-เมียนมา โดยเฉพาะการคมนาคมที่มีผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจการค้าชายแดน จากการที่ดินทรุดตัว บริเวณเส้นทางสาย อ.เมือง จ.เมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก กับ อ.กอกาเลก

 

 

 

 

 

ฝนตกหนักหลายวัน ทำให้ถนนทรุดตัว กระทบการค้าชายแดนไทย-เมียนมา

 

 

ถนนทรุดตัวลง และแยกออกจากกันหลายจุดแล้วทั้งถนนสายเก่า สายใหม่ ทำให้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าชายแดน ที่ต้องส่งสินค้าไปมาทุกวันหยุดชะงักลง ชาวเมียนมาไม่สามารถเดินทางไปพื้นที่ชั้นในของประเทศได้ นอกจากนี้น้ำยังท่วมหลายพื้นที่ในรัฐกะเหรี่ยงที่ติดอยู่กับประเทศไทย

 


ด้านนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วย นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สส.จังหวัดตาก เขต 3, ผอ.แขวงทางหลวงตากที่ 2 ,ปภ.ตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ถนนสาย105 บริเวณบ้านแม่สลิดหลวง - แม่เงา อ.ท่าสองยาง ทรุดตัว และแตกร้าว ลึกประมาณ 5 เมตร ยาว 60 เมตร หลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้รถทุกชนิดผ่านไม่ได้

 

 

นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าฯ จ.ตาก  ลงพื้นที่ถนนทรุดตัว

 

 

เบื้องต้น แขวงทางหลวงตากที่ 2 ได้ทำทางเบี่ยงฉุกเฉิน ให้ประชาชนใช้สัญจรได้ชั่วคราว ขณะเดียวกัน ได้ประสานขอสะพานแบริ่ง มาติดตั้งบริเวณที่ถนนชำรุดต่อไป

 

 

ฝนตกหนักหลายวัน ทำให้ถนนทรุดตัว กระทบการค้าชายแดนไทย-เมียนมา

 


ด้าน นายสิทธิพร ปุญญพันธุ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่จวาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตากเขต 2 อ.แม่สอด หมู่ที่8  ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ได้นำอาหาร ข้าวกล่อง น้ำดื่ม เดินทางนำไปมอบให้กับนักเรียนที่พักนอนในโรงเรียนเนื่องจากถนนเส้นทางหลวง สาย 105 ระหว่าง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กับ อ.สบเมย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ต้องปิดถนน จากดินสไลด์ทรุดตัว ถนนพัง โดยต้องเดินลัดเลาะป่าริมทางเพื่อไปยังโรงเรียน และมีการปิดโรงเรียนเป็นเวลา 3 วันในช่วงนี้

 

 

ชาวบ้านต้องใช้การเดินทางลัดเลาะป่าเนื่องจากดินสไลด์ปิดเส้นทาง