ข่าว

PDPC ติวเข้ม 'สื่อมวลชน' ทำข่าวอย่างไร ไม่ละเมิด 'กฎหมาย PDPA'

PDPC ติวเข้ม 'สื่อมวลชน' ทำข่าวอย่างไร ไม่ละเมิด 'กฎหมาย PDPA'

09 ส.ค. 2566

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPC ติวเข้ม 'สื่อมวลชน' นําเสนอข่าว ไม่กระทบสิทธิบุคคลอื่น และไม่ละเมิด 'กฎหมาย PDPA'

“กฎหมาย PDPA” หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เริ่มประกาศใข้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ “สื่อมวลชน” เป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น การบังคับใช้จากกฎหมาย PDPA ทั้งฉบับ

 

 

 

 

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส. : PDPC) จึงได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับสื่อมวลชน ร่วมกับผู้ทรงวุฒิด้านกฎหมาย PDPA และกิจการสื่อ ให้ความรู้เรื่องการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน กับการละเมิด “กฎหมาย PDPA” เพื่อสร้างแนวทางให้สื่อมวลชน สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างมีขอบเขต ไม่กระทบต่อบุคคลอื่น และช่วยให้ประชาชน เข้าใจขอบเขตการทำหน้าที่สื่อมวลชน พร้อมรักษาสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของตนได้อย่างมีคุณภาพ

 

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กรรมการผู้เชี่ยวชาญตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ กล่าวว่า จากการประกาศใช้ กฎหมาย PDPA ที่ได้กระตุ้นให้ประชาชนรับรู้ และเข้าใจความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งในฝั่งเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลและฝั่งของผู้ที่มีหน้าที่นำเสนอข้อมูลเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ทำหน้าที่ หรือกิจการ ‘สื่อมวลชน’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นการบังคับใช้จากกฎหมาย PDPA ทั้งฉบับ

 

 

 

 

ทั้งนี้ การยกเว้นบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ในสื่อมวลชน เป็นการยกมาจากรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพในการที่จะแสดงออก และรายงานข่าว แต่ขณะเดียวกัน ตัวกฎหมาย PDPA ก็ได้กำหนดขอบเขตในการยกเว้นการบังคับใช้ไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สื่อมวลชนละเมิดต่อการนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลอย่างผิดวัตถุประสงค์ โดยระบุว่า การยกเว้นนี้ จะยกเว้นให้เท่าที่เป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ หรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น

 

 

 

 

ดังนั้น ในทางกลับกัน หากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนนั้นไม่เป็นไปตามจริยธรรมฯ เกินความจำเป็น และไม่เกิดประโยชน์กับสาธารณชน สื่อมวลชนก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA และหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็อาจมีความรับผิดทางแพ่ง มีโทษทางอาญา และทางปกครองได้เช่นเดียวกัน

 

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ

ด้าน นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จัดทำโดยสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้ให้นิยามของคำว่า “สื่อมวลชน” หมายความว่า สื่อหรือช่องทางที่นำข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชน เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ขึ้นทะเบียนเป็นสื่อมวลชน โดยการขอใบอนุญาต หรือโดยการขึ้นทะเบียนเป็นสื่อมวลชนตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้สื่อมีความแตกต่างจากกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ หรือกลุ่มคนที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ที่ไม่เข้าข่ายยกเว้นจากกฎหมาย PDPA

 

 

               

“ประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนฯ ทุกการนำเสนอข่าว จะต้องมีความครบถ้วน เป็นธรรม รวมถึงต้องมีมาตรการจัดการที่เป็นธรรมกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล นั่นคือ หากมีบุคคลได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าว คนๆ นั้นจะสามารถแจ้งต่อสื่อมวลชน เพื่อลบข้อมูลที่ไม่ต้องการเผยแพร่ได้ ทั้งนี้ ตัวสื่อมวลชนเองก็ต้องมีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Security) เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Breach) รวมถึงเพื่อป้องกันการเกิดช่องโหว่ ปล่อยให้มีคนนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นไปใช้ได้”

 

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี

 

 

อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่กฎหมาย PDPA ให้การยกเว้นในกิจการสื่อมวลชน ยังรวมถึงงานศิลปกรรม หรือวรรณกรรม อันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพหรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น แปลว่าภาพถ่ายประกอบการนำเสนอข่าว จึงไม่เป็นการละเมิด PDPA ยกเว้นว่าภาพถ่ายนั้น ไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อสาธารณะ สร้างผลกระทบกับบุคคลอื่น ถูกนำไปใช้ทางการตลาด หรือแสวงหาผลกำไร จึงจะนับว่าภาพถ่ายนั้นละเมิดต่อกฎหมาย PDPA

 

 

 

หรือในกรณีที่นำเสนอข่าว โดยใช้ภาพถ่าย หรือวิดีโอจากบุคคลอื่น สื่อมวลชนต้องระมัดระวังเรื่องการปกปิดตัวตน บุคคลในภาพ และต้องอ้างอิงถึงแหล่งที่มาเนื้อหานั้นด้วย เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนหรือละเมิดกฎหมาย PDPA รวมถึงกฎหมายหมิ่นประมาท และ กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์