ข่าว

ศาลปกครองกลาง ไม่รับคำขอพิจารณาใหม่ 'คดีค่าโง่คลองด่าน' 9.6 พันล้านบาท

ศาลปกครองกลาง ไม่รับคำขอพิจารณาใหม่ 'คดีค่าโง่คลองด่าน' 9.6 พันล้านบาท

11 ส.ค. 2566

"ศาลปกครองกลาง" มีคำสั่งไม่รับคำขอ "กรมควบคุมมลพิษ" ร้องพิจารณาใหม่ คดีก่อสร้าง "ระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน" 9.6 พันล้านบาท

11 ส.ค. 2566 เว็บไซต์ศาลปกครอง เผยแพร่คำพิพากษา ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ของกรมควบคุมมลพิษ เนื่องจากไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ กรณีสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2566 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ 791/2554 หมายเลขแดงที่ 18/2555 และคดีหมายเลขดำที่ 809/2554 หมายเลขแดงที่ 2090/2555 ระหว่าง บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ผู้ร้องที่ 1 กับพวกรวม 6 ราย กับ กรมควบคุมมลพิษ ผู้คัดค้าน คดีสืบเนื่องมาจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ที่ อ.241 – 242/2561 หมายเลขแดงที่ อ. 139-140/2565 พิพากษาให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้คัดค้านและให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค. 2554 ที่ให้ผู้คัดค้านชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยและคืนหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ร้องทั้ง 6  ผู้คัดค้านยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 15 มี.ค. 2565 ต่อศาลว่า ผู้คัดค้านเห็นว่า

 


 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 ที่วินิจฉัยว่า ผู้ร้องบางรายมีความผิดฐานร่วมกัน ฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงให้ผู้คัดค้านเข้าทำสัญญาโครงการฯ อันเป็นพยานหลักฐานใหม่ และคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาซึ่งถึงที่สุดดังกล่าว การที่ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้นำข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีอาญาตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีฉ้อโกงมาพิจารณา จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดและไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ถือว่ามีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุดที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม

 

ศาลปกครองกลางเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ. 241 -242/2561 หมายเลขแดงที่ อ. 139-140/2565 ซึ่งศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อม.2/2551 และคำพิพากษาศาลแขวงดุสิตที่ 3501/2552 ผู้คัดค้านได้เสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแต่แรก ในชั้นพิจารณาคดีครั้งก่อน

 

แม้ต่อมาในคดีอาญาของศาลแขวงดุสิตดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ศาลฎีกาที่ 8064/2560 กลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ แต่ก็เป็นเพียงผลแห่งคดีที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคำพิพากษา ศาลแขวงดุสิตที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างและเสนอไว้ในคดีก่อนแล้ว

 

 

ศาลปกครองกลาง ไม่รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ กรณีค่าโง่คลองด่าน

 

 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีของศาลแขวงดุสิตที่ผู้คัดค้านเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ร้องบางรายเป็นจำเลย ซึ่งมีประเด็นวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงในการทำสัญญาโครงการฯ ย่อมแสดงว่าผู้คัดค้านต้องมีพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างว่า สัญญาเกิดขึ้นจากการร่วมกันทุจริตทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มเอกชนอยู่ก่อนแล้ว แต่ผู้คัดค้านไม่นำเสนอเข้ามาในชั้นอนุญาโตตุลาการหรือในการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครอง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้น เปลี่ยนแปลงไป ข้ออ้างของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นที่แตกต่างไปจากที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำวินิจฉัยไว้และเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น


และในการพิจารณาคดีปกครองไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายที่กำหนดให้ศาลปกครองต้องนำข้อเท็จจริงในคดีอาญา มาประกอบคำวินิจฉัยคดีปกครอง และคดีปกครองก็มิใช่คดีแพ่งที่จะต้องรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตาม มาตรา 46 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อีกทั้งศาลปกครองสูงสุดมีดุลพินิจที่จะรับฟังพยานหลักฐานเพื่อใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดี ข้ออ้างของผู้คัดค้านที่ว่าศาลปกครองสูงสุดไม่นาข้อเท็จจริง ในคดีฉ้อโกงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาพิจารณา จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการ รับฟังพยานหลักฐานของศาลปกครองสูงสุดมิใช่กรณีที่มีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม

 

ดังนั้น คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้คัดค้านจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะขอให้ศาล พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

 

ส่วนคำขอพิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ของผู้คัดค้านที่ยื่นต่อศาลปกครองกลาง อีกฉบับในภายหลังนั้น เห็นว่า คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้คัดค้าน ลงวันที่ 15 มี.ค. 2565 และลงวันที่ 2 มิ.ย. 2565 อันเป็นคำฟ้องนั้นต่างมีผู้คัดค้านเป็นผู้ยื่นคำขอเช่นเดียวกัน และเมื่อในขณะที่ผู้คัดค้านยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 2 มิ.ย. 2565 นั้น

 

คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 15 มี.ค. 2565 ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล อีกทั้ง เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาที่บรรยายมาในคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ มีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับเป็นเรื่องเดียวกันกับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 15 มี.ค. 2565 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง จึงเป็นการฟ้องซ้อนต้องห้ามมิให้ศาลรับไว้ พิจารณาตามข้อ 36 (1) แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. 2543 ซึ่งปัญหาในเรื่องการฟ้องซ้อนเป็นเงื่อนไขแห่งการฟ้องคดี และเป็นปัญหาข้อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามข้อ 92 แห่งระเบียบเดียวกัน ศาลจึงไม่อาจรับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ของผู้คัดค้านไว้พิจารณาได้

 

ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 15 มี.ค. 2565 และลงวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ของผู้คัดค้านไว้พิจารณา และให้สำนักงานหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไปเมื่อได้รับคำสั่งนี้จากศาล ทั้งนี้ ตามที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาโดยมีคำบังคับให้บังคับตามคำชี้ขาด


ของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 มกราคม 2554