'กรมควบคุมโรค' ตอกตะปู ปิดฝาโลง คนดังโพสต์เหล้า - เบียร์ ผิดเต็มประตู
ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สังกัด กรมควบคุมโรค ตอบชัดบุคคลที่มีชื่อเสียง แชร์ข้อมูลที่เป็นกระแสข่าวในโลกออนไลน์ จนถูกร้องเรียนเข้าข่ายเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ท้ายที่สุดแล้วผิดเต็มประตู เพราะเอื้อให้เกิดการโน้มน้าว ชักจูง
นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) สังกัด กรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า กรณีบุคคลที่มีชื่อเสียง แชร์ข้อมูลที่เป็นกระแสข่าวในโลกออนไลน์ และมีผู้ร้องเรียนว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องจึงขอชี้แจงตามข้อกฎหมายมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม"
จากข้อกฎหมายดังกล่าวจะเห็นว่า สาเหตุที่การโพสต์ภาพ ข้อความ และคลิปวิดีโอที่เป็นกระแสสังคมในขณะนี้ เป็นการกระทำความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากมีการแสดงชื่อ และภาพบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกอบกับมีข้อความที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวยังทำให้คนหันมาสนใจสินค้า มีผลเป็นการโน้มน้าวหรือชักจูงใจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
การที่ประชาชนโพสต์ภาพ ขวดเหล้าเบียร์ หรือ แก้วเบียร์ ที่มีโลโก้ผลิตภัณฑ์ ยังไม่ใช่ความผิดตามกฏหมายนี้ ซึ่งบุคคลที่มีชื่อเสียงกับบุคคลทั่วไป มีความหมายต่างกัน กล่าวคือหากบุคคลทั่วไปโพสต์ภาพ โดยไม่มีข้อความเชิญชวน จะไม่เป็นความผิด แต่ถ้าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ทำให้คนหันมาสนใจสินค้า มีผลเป็นการโน้มน้าว ชักจูง ทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงไม่สามารถทำได้ โดยโทษฐานความผิดจากการโฆษณา คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเป็นการโฆษณาของผู้ผลิตหรือนำเข้า จะปรับ 500,000 บาท โดยมีการกำหนดอัตราการเปรียบเทียบปรับไว้ด้วย