ข่าว

เรียกร้องทุกฝ่ายไม่คุมคาม-ก้าวร้าวต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชน

เรียกร้องทุกฝ่ายไม่คุมคาม-ก้าวร้าวต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชน

17 ส.ค. 2566

ฝ่ายสิทธิสมาคมนักข่าว เรียกร้องทุกฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรงแสดงกิริยาก้าวร้าวต่อการทำหน้าที่สื่อในรายงานข่าว เพื่อให้สื่อปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงรอบด้าน

"นายชำนาญ ไชยศร" อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (Thai Journalists Association:TJA) บอกว่า อนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ในการปฎิบัติหน้าที่ของ "สื่อมวลชน" ด้วยหลักการคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ แต่กลับพบว่า ในช่วงที่ผ่านมามี "สื่อมวลชน" หลายสำนักถูกคุกคาม ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพการทำหน้าที่ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการถูกกระทำต่อร่างกาย หรือการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมที่อาจจะมองได้ถึงการไม่เคารพ และไม่ให้เกียรติในการทำหน้าที่ "สื่อมวลชน" มาอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

ภาพโดย  Sweetp Gnomeo

 

 

 

ดังนั้น อนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ และขอเรียกร้องต่อทุกฝ่าย รวมถึงแหล่งข่าว และประชาชนดังนี้

1. ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจและเคารพการทำหน้าที่ของ "สื่อมวลชน" ให้สามารถนำเสนอข่าวได้อย่างอิสระ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน รอบด้าน และเป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน

"สื่อมวลชน" มีหน้าที่รายงานข่าวและข้อเท็จจริง ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร จึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่ คุกคาม และแทรกแซงไม่ว่าจากฝ่ายใด ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระจะส่งผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารข้อมูล และข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนของประชาชน

 

 

 

ภาพโดย  Chumnanwut Sukumvanit

2. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายระมัดระวังในการแสดงพฤติกรรม การใช้วาจาการให้เกียรติ และเคารพศักดิ์ศรีในการทำหน้าที่ซึ่งกันและกัน เพราะ "สื่อมวลชน" ตั้งคำถามแทนประชาชนตามหลักวิชาชีพ ตามสิทธิเสรีภาพ ซึ่งผู้ถูกตั้งคำถามมีสิทธิปฏิเสธที่จะตอบคำถามนั้นๆ ได้

 

 

 

ภาพโดย  Kun Jumpa
 

 

 

 

 3. ขอให้ "สื่อมวลชน" ทุกแขนง ทำหน้าที่การรายงานข่าวสารข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ส่งผ่านถ้อยคำความรุนแรงที่อาจจะสร้างความเกลียดชังระหว่างคนในสังคมและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านมากที่สุด และต้องทำหน้าที่อย่างสุจริต ตรงไปตรงมา และให้เกียรติแหล่งข่าวด้วยเช่นกัน

 

 

 

 4. หากผู้ใดที่ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ของ "สื่อมวลชน" กรณีเห็นว่า สื่อมวลชนใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย หรือใช้กลไกควบคุมจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพ "สื่อมวลชน" ผ่านสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หรือองค์กรวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงคุกคามการทำหน้าที่ของ "สื่อมวลชน"

 

 

 

สุดท้ายนี้ในสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อเช่นนี้ ซึ่งสื่อต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษในการรายงานข่าวโดยปราศจากอคติ ที่อาจมีประเด็นความเห็นที่แตกต่าง มีความขัดแย้งในทางความคิดของคนในสังคม แต่ในการทำหน้าที่ของ "สื่อมวลชน" นั้นมิใช่คู่ขัดแย้งของฝ่ายใด "สื่อมวลชน" มีหน้าที่เพียงรายงานข่าวตามจริยธรรมวิชาชีพเท่านั้น และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายได้เคารพบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน และแสวงหาหนทางที่จะคลี่คลายวิกฤติด้วยสันติวิธี

 

 

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ มีความห่วงใยในสวัสดิภาพของเพื่อนนักข่าว ที่กำลังรายงานข่าวอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากสถานการณ์มีความอ่อนไหว มีแนวโน้มในการใช้ความรุนแรง ดังนั้น นักข่าวพึงต้องระมัดระวังในสวัสดิภาพของตัวเองไปพร้อมกับการทำหน้าที่ตามจริยธรรมวิชาชีพอย่างเคร่งครัดต่อไป

 

 

 

ภาพโดย James Wilson

 

 

 

 

ภาพโดย  Matichai Teawna