ราชกิจจาฯ ประกาศจุดกำหนดเขตที่ดินที่จะ 'เวนคืน' พื้นที่บางบอนใต้
เว็บไซต์ "ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่ประกาศ พระราชกฤษฎีกา "กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน" ในท้องที่ แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ท้องที่แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2566 ข้อความว่า
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืน และการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ประกอบกับมาตรา 68/1 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้ เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2566
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสร้าง และขยายทางหลวงท้องถิ่น สายซอยเอกชัย 101 และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน
มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับได้มีกำหนด 3 ปี
มาตรา 5 เขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ อยู่ในท้องที่แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพฯ มีส่วนแคบที่สุด 60 เมตร และส่วนกว้างที่สุด 80 เมตร ทั้งนี้ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้
มาตรา 6 ให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ทีอยู่ในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
มาตรา 7 ให้กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่ในการเวนคืน
มาตรา 8 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศเวนคืนพื้นที่ดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน จึงสมควรกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ดังกล่าว เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกา
ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา