ข่าว

'การพระราชทานอภัยโทษ มีกี่ประเภท' ทักษิณ อยู่ในเงื่อนไขหรือไม่

'การพระราชทานอภัยโทษ มีกี่ประเภท' ทักษิณ อยู่ในเงื่อนไขหรือไม่

28 ส.ค. 2566

เปิด 'ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ' การพระราชทานอภัยโทษ มีกี่ประเภท 'ทักษิณ ชินวัตร' อยู่ในเงื่อนไขหรือไม่

การเดินทางกลับประเทศไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” เพื่อมารับโทษจำคุก ที่ยังเป็นคดีความ 3 คดี และมีการคาดการณ์กันว่า จะมีการ “ขอพระราชทานอภัยโทษ” เพราะเป็นสิทธิของผู้ต้องขังทุกคน ภายใต้เงื่อนไข คือ ต้องอยู่ระหว่างการรับโทษ เมื่อรับโทษแล้ว จึงจะสามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ตั้งแต่วันแรก แต่หากดำเนินการแล้ว ไม่มีการโปรดเกล้าฯ ก็จะไม่สามารถยื่นได้อีกภายใน 2 ปี คมชัดลึก เปิดข้อควรรู้ ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ และ การพระราชทานอภัยโทษ มีกี่ประเภท

ภาพประกอบการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ

ประเภทของการอภัยโทษ

 

 

1. แบ่งตามลักษณะของผู้ได้รับการอภัยโทษ

 

1.1 การอภัยโทษเป็นรายบุคคล (Individual Pardon) เป็นรูปแบบการอภัยโทษอย่างแท้จริง ที่เป็นไปตามหลักทั่วไป ซึ่งเป็นการพิจารณาจากตัวผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล

 

 

การอภัยโทษเป็นรายบุคคล ปัจจุบันบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา 259 ดังนี้ “มาตรา 259 ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้

 

 

1.2 การอภัยโทษทั่วไป (General Pardon) เป็นการให้อภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษจำนวนมาก เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการอภัยโทษของไทย ที่เป็นการแสดงออกถึงพระเมตตาคุณของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อราษฎรของพระองค์ในวโรกาสที่สำคัญต่างๆ เช่น การอภัยโทษในพิธีบรมราชาภิเษก โดยถือเป็นการบำเพ็ญอภัยทานด้วย โดยบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 261 ทวิ ดังนี้

 

 

“มาตรา 261 ทวิ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้

 

2. แบ่งตามผลของการได้รับอภัยโทษ

 

 

  • การอภัยโทษปล่อย มีผลทางกฎหมาย ทำให้ผู้ได้รับการอภัยโทษพ้นจากการถูกบังคับตามคำพิพากษาเลย
  • การอภัยโทษลดโทษ มีผลทางกฎหมายทำให้ผู้ได้รับการอภัยโทษที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ไม่ต้องถูกบังคับตามคำพิพากษาแต่เพียงบางส่วน เช่น ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต หากได้รับการอภัยโทษลดโทษ อาจจะเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน
  • การอภัยโทษเปลี่ยนโทษ มีผลทางกฎหมาย ทำให้ผู้ได้รับอภัยโทษที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ไม่ต้องถูกบังคับโทษตามคำพิพากษา เช่น ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต หากได้รับการอภัยโทษเปลี่ยนโทษ เป็นจำคุก 20 ปีแทน 

 

 

3. แบ่งตามที่มาของการอภัยโทษ

 

  • การอภัยโทษตามกฎหมาย ได้แก่ การอภัยโทษที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามกฎหมายแล้ว เพื่อมีผลให้ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาไม่ต้องรับโทษ (กรณีอภัยโทษปล่อย) ได้รับโทษน้อยลง (กรณีอภัยโทษลดโทษ) หรือได้รับโทษต่างไปจากคำพิพากษา (กรณีอภัยโทษเปลี่ยนโทษ)
  • การอภัยโทษตามจารีตประเพณี ได้แก่ การอภัยโทษในกรณีที่ยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามกฎหมายให้ลงโทษผู้กระทำความผิดแต่อย่างใดและในบางกรณีเป็นการอภัยโทษในชั้นพนักงานซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวน หรือฟ้องร้องโดยที่ยังมิได้มีการพิจารณาพิพากษาแต่อย่างใด

 

 

 

สำหรับการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ซึ่ง ทักษิณ อยู่ในเงื่อนไขนี้ มีกรอบเวลาการยื่น แยกเป็นกรณีผู้ต้องโทษกรณีทั่วไป สามารถยื่นได้ทันทีที่คดีถึงที่สุด แต่หากเป็นผู้ต้องโทษประหารชีวิต ต้องยื่นภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด

 

 

ส่วนขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย เริ่มจากผู้ต้องโทษ (โทษประหารชีวิต/จำคุก/กักขัง/ปรับ/ริบทรัพย์สิน) ที่คดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง สามารถยื่นทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ/ทัณฑสถาน หรือกระทรวงยุติธรรม สำนักราชเลขาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูต

 

 

ทั้งนี้ หลังรับเรื่องแล้วกรมราชทัณฑ์จะส่งเรื่องไปเรือนจำ/ทัณฑสถาน เพื่อสอบสวนเรื่องราว ก่อนเสนอความเห็นให้รัฐมนตรียุติธรรมลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูล ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เมื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นไร ก็จะส่งผลฎีกาดังกล่าว ให้กรมราชทัณฑ์ทราบ และดำเนินการ พร้อมทั้งแจ้งผลฎีกาให้ผู้ยื่นทราบ

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูล : สถาบันพระปกเกล้า