'วราวุธ' แนะ วกส.4 ปรับวิธีคิด-ทำเกษตร รับมือก๊าซเรือนกระจก
'วราวุธ' แนะ วกส.4 ปรับวิธีคิด-ทำภาคเกษตร รับมือก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าไทยศูนย์กลางตลาดคาร์บอนเครดิต ทั้งกักเก็บและดูดกลับ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แนะภาคเกษตรกรไทยปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ ให้เกิดแรงขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งมีการพูดในงานฝึกอบรมหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 4 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ มูลนิธิเกษตราธิการ และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จัดขึ้น
นายวราวุธ ระบุ ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 19 ของโลก มาจากภาคการเกษตรกว่า 56.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทำให้ต้องปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย หรือ LT-LEDS และจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (The 2nd updated NDC) โดยทบทวนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขาที่สอดคล้องกับเป้าหมาย NDC
ซึ่งมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ทั้งด้านการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ จัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ส่งเสริมภาคเกษตรในการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านโครงการ Thai Rice NAMA ทำนาวิถีใหม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาโครงการ Thai Rice GCF เสนอต่อกองทุนภูมิอากาศสีเขียว
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติม ส่วนด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก มีการส่งเสริมการปลูกป่าและแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ด้านการค้าการลงทุน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยต้องขึ้นทะเบียนในระบบ CBAM registry และต้องยื่นขอสถานะ CBAM declarant ก่อนนำสินค้าเข้าไปยัง EU รวมถึงในด้านกฎหมาย ที่จะเร่งผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 ส.ค. เป็นต้นไป เพื่อรองรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งฝากถึง ผู้บริหารระดับสูงในภาคการเกษตรทุกภาคส่วน ช่วยกระตุ้นให้ร่วมปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ สร้างแรงขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ