เปิดรายได้ 'ผู้สูงอายุ' ในไทย ส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี
สภาพัฒน์ เปิดผลสำรวจ 'ผู้สูงอายุ' ในประเทศไทย พบส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี ยกเว้น ข้าราชการ เมื่อเกษียณแล้ว มีรายได้จากเงินบำนาญชัดเจน
น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยการสำรวจรายได้ 'ผู้สูงอายุ' ในประเทศไทย พบว่า 34% หรือ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่เข้าสู่วัยเกษียณของยังคงมีงานทำอยู่ แต่กลับมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน นอกจากนี้ ผู้สูงอายุในประเทศไทยกว่า 78.3% มี รายได้ ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยรายได้ต่ำกว่า 8,333 บาทต่อเดือน ยกเว้น ข้าราชการ สูงอายุเท่านั้นเมื่อเกษียณแล้ว มีรายได้จากเงินบำนาญชัดเจนไม่ต่ำกว่า 40% ของรายได้เดือนสุดท้ายที่ได้รับ
ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ออมเงินอยู่ในช่องทางอื่น เช่น ประกันสังคม หรือ กองทุนการออมแห่งชาติ มีไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในวัยเกษียณ
รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยต่อไปว่าโครงสร้างประชากรไทยถือเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แบบ และมีแนวโน้มที่จะมีประชากร 'ผู้สูงอายุ' เพิ่มขึ้น ในปี 266 นี้ ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 13.5 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ
ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2576 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด ซึ่งคาดว่าจะมี 'ผู้สูงอายุ' มากถึง 18.38 ล้านคน หรือ 28% ของประชากรทั้งหมด เมื่อถึงปี 2583 ผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มเป็น 20.51 ล้านคน หรือ 31.37% ของประชากรทั้งหมด เท่ากับว่าประชากรสูงอายุจะคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศในอีก 17 ปีข้างหน้า