'ซูเปอร์บลูมูน' คืออะไร ต่างจาก 'ซูเปอร์ฟูลมูน' อย่างไร เกิดล่าสุดเมื่อไหร่
เปิดข้อมูล 'ซูเปอร์บลูมูน' คืออะไร มีความต่างจาก 'ซูเปอร์ฟูลมูน' อย่างไร ทำไมถึงเรียกไม่เหมือนกัน เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อไหร่
'ซูเปอร์บลูมูน' คืออะไร หลายคนอาจสงสัยว่า ต่างจาก 'ซูเปอร์ฟูลมูน' อย่างไร ทำไมถึงเรียกไม่เหมือนกัน และเมื่อมีคำว่า บลูมูน หลายคนจึงคิดไปถึง ดวงจันทร์สีน้ำเงิน ซึ่งล่าสุด ทางเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ออกมาให้ข้อมูลแล้ว โดยบอกชัดเจนว่า บลูมูน (Blue Moon) ไม่ได้หมายถึง ดวงจันทร์สีน้ำเงิน ในทางดาราศาสตร์แล้ว บลูมูน หมายถึงดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
'ซูเปอร์ฟูลมูน' (Super Full Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ส่วน 'ซูเปอร์บลูมูน' คือ ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน
ปกติแล้ว ดวงจันทร์ มีคาบการโคจรรอบโลกประมาณ 29.5 วัน ในขณะที่หนึ่งเดือนในปฏิทินที่เราใช้กันมี 30-31 วัน ส่งผลให้เมื่อวันเวลาผ่านไป บางเดือนมีวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงถึง 2 ครั้งในช่วงต้นเดือนและปลายเดือน ซึ่งนานทีจะเกิดขึ้น และอาจทำให้ใครหลายคนนึกถึงสำนวนภาษาอังกฤษอย่าง Once in a blue moon ที่หมายถึงอะไรที่เกิดขึ้นได้ยาก หรือนานๆ จะเกิดขึ้นที
บลูมูนครั้งนี้ นับเป็นบลูมูนในรอบ 3 ปี ครั้งล่าสุดที่เกิด บลูมูน คือวันที่ 31 ต.ค. 2563 ซึ่งในครั้งนั้นนอกจากจะตรงกับวันฮาโลวีนแล้ว ยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) พอดีอีกด้วย
ส่วนปีนี้ เราน่าจะทราบกันแล้วว่าตรงกับช่วง ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon) จึงเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า 'ซูเปอร์บลูมูน' นอกจากจะเป็นดวงจันทร์ครั้งที่ 2 ของเดือนแล้ว ยังเป็นดวงจันทร์ที่ขนาดปรากฏจะใหญ่กว่าปกติ (และแน่นอนว่ามมองเห็นเป็นดวงจันทร์สีขาวนวลเหมือนทุกวัน) เวลาที่เหมาะสมสำหรับชมความสวยงามคือคืน 30 ส.ค. ถึงรุ่งเช้า 31 ส.ค. 2566
หากคืนดังกล่าวฟ้าใสไร้เมฆ สามารถชมความสวยงามด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ หรือถ้าอยากเห็นแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ ก็มาชมกับ NARIT ได้ที่หอดูดาวทั้ง 4 แห่งที่เชียงใหม่ นครราชสีมา สงขลา และฉะเชิงเทรา
ภาพ-ข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ