ข่าว

'น้ำมันดิบ' รั่วลงทะเล หวั่น อาหารทะเล ปนเปื้อนสาร ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

'น้ำมันดิบ' รั่วลงทะเล หวั่น อาหารทะเล ปนเปื้อนสาร ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

06 ก.ย. 2566

กรมอนามัย เฝ้าระวังเหตุ 'น้ำมันดิบ' จากทุ่นเทียบเรือรั่วไหลลงทะเล พร้อมเตือนประชาชนเลือก อาหารทะเล ที่ไม่มีการปนเปื้อน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มี 'น้ำมันดิบ' จากทุ่นเทียบเรือ รั่วไหลลงทะเล เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้มอบหมายให้กองอนามัยฉุกเฉินติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ทีมปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ประสานงานร่วมกับทีมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อประเมินความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพ

 

รวมทั้งเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารโละหนักจาก น้ำมัน ในสถานประกอบการเสี่ยง เช่น สถานที่จำหน่ายอาหาร ตลาดสด ตลาดจำหน่าย อาหารทะเล บริเวณใกล้เคียง เพื่อลดความเสี่ยงด้านประชาชน รวมทั้งควบคุม กำกับ การจัดการด้านสุขาภิบาลอาหารสุขลักษณะของผู้ประกอบการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และเร่งสื่อสารสร้างการรับรู้ประชาชนในการเลือกซื้ออาหารและวัตถุดิบทางทะเลอย่างปลอดภัย 

 

 

ด้าน นพ.สุทัศน์ ไชยยศ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการปฏิบัติหน้าที่ของทีมปฏิบัติการฯ พบว่า ช่วงเช้าของวันที่ 5 กันยายน 2566 ได้รับแจ้งข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการในการขจัดมลพิษทางน้ำของทัพเรือภาคที่ 1 ตรวจไม่พบ คราบน้ำมัน ในทะเลและบริเวณชายฝั่ง

 

 

ทั้งนี้ ต้องรอผลการตรวจคุณภาพน้ำทะเลจากห้องปฏิบัติการของ กรมควบคุมมลพิษ ว่าพบการปนเปื้อนหรือไม่ เพื่อประเมินสถานการณ์ที่อาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารโลหะหนักจากน้ำมันดิบในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมง

 

 

ดังนั้น ในระยะนี้ขอให้ชาวประมงควรหลีกเลี่ยงการจับ สัตว์ทะเล ในบริเวณที่ตรวจพบคราบน้ำมัน เพราะสัมผัสสารพิษเข้าสู่ร่างกายในขณะทำงาน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพแบบเฉียบพลันได้ เช่น หายใจลำบาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะผู้มีอาการภูมิแพ้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ก็จะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น และหากมีการสัมผัสทางดวงตาและผิวหนังโดยตรง อาจส่งผลให้ทำให้เกิดการระคายเคือง หรือส่งผลกระทบแบบเรื้อรังและระยะยาว หากมีความจำเป็นควรสวมถุงมือจับสัตว์ทะเลที่สงสัยว่ามีการปนเปื้อนคราบน้ำมัน 

 

 

"สำหรับ นักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางน้ำในพื้นที่ตรวจพบว่ามีคราบน้ำมันปนเปื้อน เพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพจากการสัมผัสสารพิษโลหะหนัก สำหรับประชาชนควรสังเกตลักษณะของอาหารทะเล หากพบความผิดปกติมีการปนเปื้อนคราบน้ำมัน ควรหลีกเลี่ยงการซื้อมารับประทาน และติดตามข้อมูลสถานการณ์การจัดการคราบน้ำมันและผลกรกะทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวในการรับประทานอาหารที่ปลอดภัย จากร้านอาหารหรือสารประกอบการที่ได้มาตรฐาน" ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี กล่าว